นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่า ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุด หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยปรับลดลง และเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงปี 66 แต่อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูง จาก 2 ปัจจัยสำคัญที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลก และ 2.การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศ
"เงินเฟ้อคงจะพีคสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จากนั้นพอเข้าสู่ไตรมาส 1 ปี 66 ก็จะค่อยๆ ปรับลดลง ทำให้ทั้งปี ก็จะเฉลี่ยอยู่ในกรอบเป้าหมาย" เลขานุการ กนง.ระบุ
พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเติบโตเท่ากับในช่วงก่อนวิกฤติโควิดได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 66 แต่คงยังไม่สามารถเติบโตไปถึงจุดที่มีศักยภาพได้ ซึ่งอาจจะต้องรอให้ผ่านไปอีกสัก 1 ปีหลังจากนั้น
อย่างไรก็ดี การที่ กนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.3% จากเดิมที่ 3.2% นั้น เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/65 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่กลับมาเร็วขึ้น โดยมองว่าการบริโภคภาคเอกชน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ ขณะที่บทบาทของภาครัฐอาจจะเริ่มลดลงบ้าง เนื่องจากในช่วงวิกฤติโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ออกนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไปค่อนข้างมากแล้ว
นายปิติ กล่าวว่า ขณะนี้หมดยุคการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานแล้ว เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ กนง.ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.ต้องสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันต้องดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้นสูง ซึ่งเมื่อภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ก็ต้องถึงเวลาถอนคันเร่งการใช้นโยบายการเงิน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนเกินไป ไม่เป็นการเติมฟืน และซ้ำเติมให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
2.ต้องพิจารณาระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง กนง.จะต้องดูความชัดเจนต่อเนื่อง และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ถ้าดอกเบี้ยขึ้นช้าเกินไป ก็ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น กนง.ก็กังวลว่าอาจจะต้องใช้ยาแรงเพื่อมาควบคุมในปีหน้า
3.ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มภาระให้กับคนบางกลุ่ม เช่น ครัวเรือนรายได้น้อย แต่เมื่อพิจารณาหากปล่อยให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็จะเป็นภาระมากกว่าการขึ้นดอกเบี้ย โดยเงินเฟ้อตั้งแต่ต้นปีทำให้ครัวเรือนมีภาระ 850 บาท หรือคิดเป็น 3.6% ของรายได้ครัวเรือน แต่ในกรณีถ้าขึ้นดอกเบี้ย 1% จะคิดเป็นภาระต่อครัวเรือน 120 บาทซึ่งน้อยกว่า 7-8 เท่า
นายปิติ กล่าวว่า เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าเป็นผลจากปัจจัยราคาน้ำมัน ก็จะมีนโยบายการเงินหรือเครื่องมือมาแก้ไขได้ ซึ่งไทยได้ใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือในการเข้ามาดูแลเสถียรภาพราคา