ทิสโก้ คาดกนง.ทยอยขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งปีนี้ หนุนสิ้นปีแตะ 1.25%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2022 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธรรมรัตน์ กิตติสิริพัฒน์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือของปี 65 ซึ่งได้แก่ เดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสที่ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50%

ในการประชุมวานนี้ (8 มิ.ย.) กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ 0.50% ตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี คณะกรรมการ 3 ใน 7 มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% (25bps) ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอีกไม่ช้า สวนทางกับการประชุมในครั้งก่อนที่คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยรายงานการประชุมระบุว่า "การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า"

นอกเหนือไปจากการ ลงมติที่เสียงแตก กนง. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นอย่างมาก โดย กนง. คาดว่าเงินเฟ้อในปี 66 จะขยับขึ้นไปใกล้กับกรอบบนของเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 3% ประกอบกับมีการแถลงในการประชุมว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากมีความจำเป็นลดลง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้จึงเชื่อว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนสิงหาคมจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม โอกาสในการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 3 ครั้งในปีนี้อาจลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับพัฒนาการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นสำคัญ เช่น หากสงครามยูเครนดีขึ้นอย่างมีนัยยะจนนำไปสู่การลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เป็นวงกว้าง และ/หรือรัฐบาลเพิ่มการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล อาทิ การปรับลดเพดานราคาน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 35 บาทต่อลิตร ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งผ่านของต้นทุนลดลงและลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้ต่ำลง เป็นต้น

"กนง. อาจต้องการลดความเสี่ยง เลี่ยงการใช้ยาแรง หากเลือกที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า เหมือนกับที่ได้เห็นหลายประเทศได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 0.50% ต่อครั้งในการประชุม เนื่องจากความเสี่ยงของเงินเฟ้อยังโน้มไปด้านสูงอยู่และต้องใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กนง. เลยเลือกส่งสัญญาณเร็วขึ้นและทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปแทน เพื่อให้ตลาดทยอยปรับตัว แล้วค่อยประเมินภาพของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นระยะ" นายธรรมรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หลายอย่างยังนับว่ามีความท้าทายและมีความไม่แน่นอนอยู่มาก รวมไปถึงหากเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วและทำให้เกิดการหยุดชะงักของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาชะลอตัวอย่างมาก อย่างเช่นยุโรปที่เศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบหนักจากการงดเว้นการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียในปีนี้ ก็อาจทำให้ กนง. เลือกกลับมาแตะเบรค หยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปก่อนได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ