นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 84.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.2 ในเดือนเม.ย.65 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการปิดเมืองของจีน ส่งผลให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่นโยบายเปิดประเทศและการยกเลิกระบบ Test&Go ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.9 ในเดือนเมษายน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ การปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมถึงการที่ภาครัฐจะพิจารณาให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอน อาจเป็นปัจจัยที่บั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้
- เสนอให้ภาครัฐช่วยเจรจาหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีศักยภาพมาทดแทน โดยเฉพาะ ปุ๋ย อาหารสัตว์ สารเคมี เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและเพื่อความมั่นคงระยะยาว
- ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เช่น เงินอุดหนุนรักษาการจ้างงาน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
- เสนอภาครัฐเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ และออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2565
- ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัจจัยที่บั่นทอนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องพึ่งพาการส่งออก นอกจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อแล้ว ยังมีความขัดแย้งในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งของประเทศในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน
ขณะที่ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีการปรับคาดการณ์ราคาในปีนี้จากเดิม 100-110 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มเป็น 110-120 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ และที่ผ่านมารัฐบาลพยายามหามาตรการช่วยเหลือด้วยการตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ก็ต้องใช้มาตรการบริหารจัดการ โดยขยายเพดานการตรึงราคาเพิ่มขึ้น
ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนั้น คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพิจารณาตามความจำเป็นเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เนื่องจากขณะนี้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น
"ช่วงไตรมาสที่ 3-4 คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสละ 0.25% เพราะหากปรับขึ้น 0.50% อาจเป็นยาแรงเกินไป ควรดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป" นายเกรียงไกร กล่าว
สำหรับปัญหาวิกฤตอาหารนั้น จะเป็นโอกาสดีในการส่งออก ซึ่งเชื่อว่าในประเทศจะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนแน่นอน เพียงแต่จะมีราคาแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ช่วงนี้จะเป็นโอกาสดีในการรณรงค์ให้มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น