ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ พ.ค.ลดทุกภาค กังวลน้ำมันแพง-ค่าครองชีพสูง กระทบกำลังซื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2022 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนพ.ค. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 23-30 พ.ค. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 35.2 ลดลงจากระดับ 35.4 ในเดือนเม.ย. 65

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 34.2 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 34.5
  • ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 36.4 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 36.6
  • ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 38.9 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 39.0
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.3 ลดลงจากเดือนเม.ย ซึ่งอยู่ที่ 35.5
  • ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 34.5 ลดลงจากเดือนเม.ย ซึ่งอยู่ที่ 34.7
  • ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 33.0 ลดลงจากเดือนเม.ย ซึ่งอยู่ที่ 33.2

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน พ.ค. 65 มีดังนี้

  • ปัจจัยลบ ได้แก่

1. ความกังวลของเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

2. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

3. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

4.ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 4.20 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 3.00 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

4. SET Index เดือน พ.ค. 65 ปรับตัวลดลง 4.03 จุด จาก 1,677.44 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 65 เป็น 1,663.41 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 65

5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 33.821 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 65 เป็น 34.416 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 65

  • ปัจจัยบวก ได้แก่

1. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบ สำหรับคนไทยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass และไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศ ส่วนชาวต่างชาติยังต้องลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass

2.ผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถกลับมาเปิดบริการได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และพื้นที่นำร่อง (สีฟ้า)

3. การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 65 ขยายตัว 9.90% มูลค่าอยู่ที่ 23,51.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัว 21.5% มีมูลค่าอยู่ที่ 25,429.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,908.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

3. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหา มีดังนี้

1. ภาครัฐควรดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนช่วยประคับประคองราคาสินค้าและบริการที่จำเป็น รวมถึงลดภาระค่าครองชีพของประชาชนให้ต่ำลง

3.แนวทางในการจัดระบบต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศให้มีความกระชับ และทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจง่าย

4.มาตรการป้องกันและดูแลระดับของน้ำ ไม่ให้มีมากจนส่งผลกระทบถึงประชาชนส่วนรวม

5.การผ่อนคลายการดำเนินธุรกิจ

6.การกระตุ้นประชาชนให้ทยอยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสได้มากขึ้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้มีข้อสังเกตว่าดัชนีทุกตัวปรับตัวลดลง รวมถึงปรับตัวลดลงในทุกภาค แสดงให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศในมุมมองภาคธุรกิจทั่วประเทศยังไม่ดีขึ้น ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะพบแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ผูกพันกับการส่งออกเท่านั้น และจากการคาดการณ์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังถือว่าแย่อยู่

ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่มองเหมือนกันคือ กำลังซื้อยังไม่มี ประชาชนเป็นห่วงเรื่องค่าครองชีพ และกังวลปัญหาราคาน้ำมันแพงที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนแนวทางช่วยเหลือจากภาครัฐ ควรดำเนินโครงการธงฟ้าจำหน่ายสินค้าในราคาที่เหมาะสม และเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่นักท่องเที่ยวชาวไทยอาจยังกังวลเรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลควรเร่งออกมาตรการไทยเที่ยวด้วยกัน เฟส 4

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวก คือ พืชผลทางการเกษตรราคาปรับตัวสูงขึ้นในรอบหลาย 10 ปี แต่ถ้าสามารถประคองราคาไว้ ก็จะสามารถค้ำยันเศรษฐกิจได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ