ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพ.ค.65 อยู่ที่ระดับ 40.2 ลดลงจากเดือนเม.ย.65 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 40.7
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 34.3, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 37.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 48.5
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต
โดยมีปัจจัยลบ ได้แก่
- ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่รัฐบาลได้ตรึงราคาไว้
- สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานตัวเลข GDP ในไตรมาส 1/65 ขยายตัว 2.2% และได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 65 จากเดิม 3.5-4.5% เหลือ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลาง 3% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาพลังงานโลกสูง ส่งผลมายังราคาสินค้าไทยปรับขึ้นและเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
- ผู้บริโภคยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
- ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่งประเทศ ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ
- ดัชนี SET เดือนพ.ค. 65 ปรับตัวลดลง 4.03 จุด โดยปรับลดลงจาก 1,667.44 จุด ณ สิ้นเดือนเม.ย.เป็น 1,663.41 จุด
- เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย
ขณะที่ปัจจัยบวกได้แก่
- ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ โดยยกเลิกการกักตัวทุกรุปแบบ สำหรับคนไทยไม่ต้องลงทะเบียน Thailand Pass รวมทั้งผ่อนคลายสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ กลับมาเปิดบริการได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า)
- การฉีดวัคซีนทั่วโลกและในประเทศเป็นรูปธรรมากขึ้น ทำให้ประชาชนคลายกังวล รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
- การส่งออกในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 9.90% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 21.49% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,908 ล้านเหรียญสรอ.
- ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือส่งตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยวสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับตัวดีขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. 65 ต่ำกว่าระดับปกติทุกรายการ และปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ผลจากเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่ฟื้นตัว และรายได้ประชาชนยังไม่ขยายตัว อยู่ระดับทรงตัวต่ำ และการจ้างงานยังไม่กลับมา
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพ.ค. เป็นช่วงการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ราคาน้ำมันดีเซลยังขึ้นไม่สุดเพดานที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 3 บาท เป็นแรงกดดันที่ทำให้คนรู้สึกว่าค่าครองชีพและค่าขนส่งสูงขึ้น แต่ยังมีสัญญาณเชิงบวกคือ มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดมากขึ้น และปรับระบบเปิดรับนักท่องเที่ยวได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงการเปิดสถานบันเทิงต่างๆ ทำให้ธุรกิจมีความคึกคักมากขึ้น และคนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
"ความเชื่อมั่นของภาวะปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้น ไม่ได้ทรุดตัวลง เป็นการต่อสู้สถานการณ์โควิดที่คลี่คลายกับความกังวลเรื่องเกี่ยวกับต้นทุนค่าครองชีพ แต่ประชาชนห่วงอนาคต เพราะรู้ว่าน้ำมันกำลังจะแพง ข้าวของกำลังจะแพง และกังวลว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีหรือไม่ ดังนั้นหักกลบลบหนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ความเชื่อมั่นยังเป็นขาลง" นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพ ที่มีดัชนีต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่มีการสำรวจมา 17 ปี 1 เดือน แต่ที่น่ากังวลหนักกว่านั้น คือเรื่องรายได้ ซึ่งดัชนีต่ำสุดในรอบ 23 ปี 8 เดือน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลดลง มีผลต่อภาคการส่งออก ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงไม่ดี และเป็นตัวบั่นทอนทางเศรษฐกิจ และยังคงเห็นว่าต้องหาแนวทางทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 อย่างเห็นได้ชัดก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ย
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย ซึ่งขณะนี้ยังประเมินกรอบ GDP ปีนี้ไว้ที่ 2.5-3.5% โดยสถานการณ์ปัจจุบันยังมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ แต่มีโอกาสที่จะปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงได้