นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง กรณีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ว่า มติ 4 เสียงคงยังเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% ยังเอื้อต่อการฟื้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้เศรษฐกิจเติบโตไม่เป็นไปตามเป้า ในขณะที่มติอีก 3 เสียง ให้น้ำหนักเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจทะลุ 130-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นอีก กระทบถึงค่าขนส่งและราคาสินค้า และอาจทำให้เงินเฟ้อทั้งปีทะลุ 6% ได้
ทั้งนี้ จากมติ กนง.เป็นการส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วๆ นี้ ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น แต่หากสถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่มีท่าทีรุนแรงไปมาก อาจจะมีการปรับดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือต้นไตรมาส 4
"หาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ย น่าจะขึ้น 0.25% และขึ้นอยู่กับว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้ง ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ระดับหนึ่ง ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะส่งผลให้เศรษฐกิจย่อตัวลง 0.1% ได้ และกดเงินเฟ้อลงได้ 0.2-0.3% แต่สิ่งสำคัญ คือจะปรับขึ้นดอกเบี้ยกี่ครั้ง และผลทางจิตวิทยา จะมีผลต่อการลดการจับจ่ายใช้สอยหรือมีผลต่อต้นทุนหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่เห็นภาพไม่ชัด" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถสกัดเงินเฟ้อได้หรือไม่ และหากพิจารณาถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 0.50% สิ่งที่น่ากังวล คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐ ซึ่งอาจทำให้ กนง.จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากเงินเฟ้อยังสูงขึ้น อาจทำให้ กนง.ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ และหากการประชุมครั้งหน้า (10 ส.ค.) มีมติให้ขึ้นดอกเบี้ย การประชุมครั้งต่อๆ ไปก็มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีกเช่นกัน
"ผลของการขึ้นดอกเบี้ย ถ้าเร็วเกินไปแล้วเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำและเป็นภาระต้นทุน ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อ และทำให้ความต้องการซื้อสินค้าซึมตัวลงเร็วเกินไป แต่หากขึ้นดอกเบี้ยในเวลาที่เหมาะสม ก็น่าเป็นประโยชน์คุมเงินเฟ้อได้ และยังเป็นการรักษาช่องห่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐ ซึ่งจะไม่ทำให้เงินบาทอ่อนเร็วเกินไป" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังไม่ใช่คำตอบชัดเจนในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เป็นเพียงการสกัดกั้นในเชิงจิตวิทยา แต่การชะลอเงินเฟ้อได้ดีที่สุด คือการใช้นโยบายด้านการคลังในการดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ขณะเดียวกัน รัฐบาลใช้นโยบายเงินบาทอ่อนจะช่วยส่งเสริมการส่งออก และการท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี