(เพิ่มเติม1) BCP-แบงก์ออมสิน-TIPH ร่วมทุนทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก ตั้งเป้าปีแรก 1 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2022 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม1) BCP-แบงก์ออมสิน-TIPH ร่วมทุนทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก ตั้งเป้าปีแรก 1 หมื่นลบ.

บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติการร่วมลงทุนในธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อต่อยอดโครงการ มีที่ มีเงิน ที่ริเริ่มโดยธนาคารออมสิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้เดือดร้อนจากโควิด-19 และร่วมแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบ บริษัทฯได้ตกลงร่วมกันกับผู้ร่วมทุน ได้แก่ ธนาคารออมสิน และบมจ.ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TIPH) ดังนี้

1. บริษัท บีซีวี ไบโอเบส จำกัด (BCVB) (บริษัทย่อยซึ่งบริษัทฯถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท) ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจใดอยู่ ณ ปัจจุบัน จะเป็นบริษัทร่วมทุน โดยจะดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทเป็นบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ภายหลังการขายหุ้นแก่ ธนาคารออมสิน และ TIPH และดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียน

2. บริษัทจะขายหุ้นใน BCVB ให้แก่ธนาคารออมสิน และ TIPH ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ได้ตกลงกัน โดยภายหลังการโอนหุ้น บริษัทฯ ธนาคารออมสิน และ TIPH จะถือหุ้นอยู่ที่ 20% 49% และ 31% ตามลำดับ หลังจากนั้น BCVB จะทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท ตามสัดส่วน ภายหลังธุรกรรมดังกล่าว จะมีผลให้บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด มีสถานะเป็นบริษัทร่วมของบริษัทฯ

ทั้งนี้ คาดว่าจะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน ไตรมาส 3/65

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากความตั้งใจเริ่มต้นที่ธนาคารออมสินมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน และสร้างการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินจริง ซึ่งประสบความสำเร็จจากการปล่อยสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ที่เปิดให้กู้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ขาดสภาพคล่องจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือมีความเสี่ยงสูญเสียที่ดินติดสัญญาขายฝากอย่างไม่เป็นธรรม โดยผ่อนปรนให้ลูกค้าใช้ที่ดินเป็นหลักประกันการกู้ ภายในระยะเวลา 2 ปี สามารถปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้วกว่า 21,000 ล้านบาท จึงเกิดเป็นแนวคิดการจัดตั้งบริษัทเข้าทำธุรกิจแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อผลักดันให้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ ลดโครงสร้างดอกเบี้ยซึ่งสูงเกินความเป็นจริง ให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากสินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและมีเงื่อนไขที่เป็นธรรม

โดยธนาคารออมสินทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อ ประสานพลังความร่วมมือพร้อมให้บริการผ่านจุดบริการของทั้ง 3 ฝ่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนรายย่อย ช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ และสร้างการแข่งขันที่สมบูรณ์ในตลาดสินเชื่อที่ดินและขายฝาก

ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทฯ แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 3 เปิดตัวด้วยสินเชื่อที่ดิน อัตราดอกเบี้ย 7-9% ในระยะแรก หลังจากนั้นขยายผลไปทำธุรกิจขายฝากภายในสิ้นปี 2565 ก่อนจะยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Non-Bank ในปี 2566 เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อบุคคลต่อไป ตั้งเป้าปีแรกสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 10,000 ล้านบาท ด้วยจุดแข็งด้านฐานลูกค้าของธนาคารออมสินจำนวนมาก และมีจุดบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งสาขาของธนาคารออมสิน และทิพย กรุ๊ป รวมถึงจุดให้บริการน้ำมันบางจาก รวมกันกว่า 2,300 แห่งทั่วประเทศ

"เราไม่ได้หวังที่จะครอบครองที่ดิน แต่ต้องการเป็นกลไกเข้าไปในระบบ เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน เพราะเห็นช่องที่จะสามารถกดอัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ลดลงได้ โดยปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อที่ดินในตลาดอยู่ที่ 15% ขณะที่นอกระบบอยู่ที่ 20-30% เราอยากจะเข้าไปดูแลตรงนี้ให้มีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าเป้าหมายปีแรกทำได้อย่างแน่นอน ส่วนอนาคตบริษัทจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องของอนาคต" นายวิทัย กล่าว

สำหรับแผนในระยะต่อไป คือ สินเชื่อขายฝาก และสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น เนื่องจากเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ยังมีช่องว่างที่จะเข้าไปแข่งขันได้ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการบรรเทาภาระให้ประชาชน โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคล ที่ปัจจุบันสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์-พิโกไฟแนนซ์ อยู่ที่ 33%, นอนแบงก์ อยู่ที่ 28% ส่วนเป้าหมายการคิดอัตราดอกเบี้ยของออมสิน ช่วงแรกอาจจะอยู่ที่ 20% ต้นๆ หรืออาจจะลดมากกว่านั้น มาอยู่ที่ 5-7% ถือเป็นระดับที่ตั้งใจ โดยต้องพิจารณาภาพรวมธุรกิจทั้งหมด ซึ่งบริษัทก็ต้องมีกำไรด้วย

ด้านนายสมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TIPH กล่าวว่า การร่วมทุนดังกล่าว สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์การลงทุนของบริษัท ที่ต้องการขยายการลงทุนไปในธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากธุรกิจประกันภัย ในฐานะธุรกิจหลักของบริษัท โดยเฉพาะธุรกิจที่สอดคล้องกับเทรนด์ของธุรกิจในโลกอนาคต เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินใหม่สำหรับธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ที่จะเข้ามาช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

นายสมพร ระบุว่า เชื่อมั่นว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด จะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ประชาชนที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพด้วยดอกเบี้ยที่มีความเป็นธรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของภาคประชาชนได้

ด้านนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า การร่วมทุนในนวัตกรรมทางการเงินอย่างธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก ผ่านบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ในครั้งนี้ จะมอบโอกาสใหม่ให้กับสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและลูกค้าบางจาก ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและต้นทุนสินเชื่อที่เป็นธรรม สำหรับเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินที่จำเป็นต่อการบริโภคหรือการดำเนินธุรกิจ บรรเทาปัญหาภาระหนี้สินและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและประชาชนรายย่อยได้อีกทางหนึ่ง สอดคล้องตามความมุ่งมั่นของกลุ่มบางจาก ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมมาโดยตลอด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ