นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.65) พบว่ามีมูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการส่งออกของไทยไปทั่วโลกถึง 14% โดยตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 24.7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ อาทิ สิงคโปร์ (+60%) อินโดนีเซีย (+34%) เมียนมา (+24%) มาเลเซีย (+11%) ฟิลิปปินส์ (+11%) สปป.ลาว (+8%) กัมพูชา (+7%) เวียดนาม (+0.4%)
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้ากลุ่มเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการส่งออก 16% ของการส่งออกไทยไปอาเซียน อาทิ น้ำตาลทราย (+140%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (+12%) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+81%) อาหารสัตว์เลี้ยง (+21%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+72%) และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการส่งออก 72% ของการส่งออกไทยไปอาเซียน อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+1.4%) เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (+14%) แผงวงจรไฟฟ้า (+27%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล (+21%) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+8%)
ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับสินค้าของไทยจากแต้มต่อทางภาษี ช่วยลดต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบจากการนำเข้าได้ในราคาที่ถูกลง โดยไทยได้ร่วมจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศสมาชิก อีก 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา และได้ตกลงเปิดตลาดการค้าสินค้าระหว่างกัน นับตั้งแต่ปี 2536 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสมาชิกอาเซียนได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันเกือบทุกรายการสินค้าแล้ว
"จากการคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 การเปิดประเทศของสมาชิกอาเซียน ความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น และการห้ามส่งออกของบางประเทศ จะทำให้การส่งออกของไทยไปอาเซียนในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรเร่งศึกษาสิทธิประโยชน์ รวมถึงพิจารณาใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอที่ไทยมีอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และมีความโดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าแล้ว ยังช่วยให้สินค้าไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน" นางอรมน กล่าว