นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงและปุ๋ยขาดแคลน จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด19 จึงได้พบกับที่ปรึกษาสำนักงานผู้แทนการค้ารัสเซียประจำประเทศไทย พร้อมด้วยประธานหอการค้าไทย-รัสเซีย เพื่อหารือเกี่ยวกับการนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียเพิ่มขึ้นในราคามิตรภาพ ซึ่งจากการหารือรอบแรก ผู้แทนการค้ารัสเซียยืนยันว่ารัสเซียกับไทยมีความสัมพันธ์กันมากว่าร้อยปี จึงเห็นด้วยในหลักการที่จะขายปุ๋ยให้ไทยในราคาพิเศษ
"ยังมีเรื่องต้องหารือเกี่ยวกับรูปแบบการนำเข้า จะใช้โมเดลการนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียในราคามิตรภาพ โดยสถาบันเกษตรกร หรือ อตก. และจำหน่ายสู่เกษตรกรโดยตรง หรือจะเป็นแบบซาอุดีอาระเบียโมเดล คือ ภาครัฐตกลงกันเรื่องราคามิตรภาพ และมอบหมายเอกชนผู้ส่งออกนำเข้าของ 2 ประเทศไปเจรจากัน" นายอลงกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นต้นทุนการขนส่ง และเรื่องระวางที่เพิ่มขึ้นจากการขนส่งปุ๋ยทางรถไฟมาลงเรือที่เมืองท่าวลาดิวอสต็อก ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก หรือขนส่งด้วยรถไฟจีน-ลาว และประเด็นเรื่องสกุลเงินในการชำระค่าปุ๋ย
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งหน้า จะเชิญผู้แทนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ตัวแทนสถาบันเกษตรกร สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และสมาคมผู้ค้าปุ๋ยร่วมหารือด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเกือบ 100% ปริมาณกว่า 5 ล้านตัน เป็นมูลค่ากว่า 73,430 ล้านบาท มากกว่าปี 2563 ถึง 54.1% ส่วนรัสเซีย เป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยเคมีมากที่สุดในโลก ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.7% ของมูลค่าการส่งออกทั้งโลก โดยไทยนำเข้าจากรัสเซียเป็นมูลค่า 5,670 ล้านบาทในปีที่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนราว 7.7% ของการนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 ราคาปุ๋ยเคมีทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยิ่งทำให้ปุ๋ยเคมีมีราคาสูงขึ้นไปอีก กระทบต่อต้นทุนของเกษตรโดยตรง
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการต่างประเทศ และหอการค้าไทย ได้เจรจาขอซื้อปุ๋ยเคมีราคามิตรภาพจากซาอุดีอาระเบียจนสามารถตกลงในหลักการ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจานำเข้าส่งออกระหว่างภาคเอกชนของ 2 ประเทศ