นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม ได้เสนอแนวทางแก้ไขผลกระทบฐานะการเงินกองทุนประกันสังคมจาก "นโยบาย 3 ขอ" (ขอนำเงินจากกองทุนชราภาพออกมาใช้ก่อน ขอเลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญได้ และขอคืนหรือขอกู้จากกองทุนได้) ว่า นโยบาย 3 ขอ แม้มีเป้าหมายต้องการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่เดือดร้อนทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้า แต่เป็นการละเมิดต่อหลักการประกันสังคม และอาจนำมาสู่ปัญหาฐานะทางการเงินของกองทุนชราภาพได้ ดังนั้นจึงขอเสนอให้ทบทวนนโยบายดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลต้องการเดินหน้านโยบายดังกล่าว จำเป็นต้องมีมาตรการและแนวทางเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้กองทุนชราภาพเข้าสู่สภาวะการล้มละลายภายใน 30 ปี และผู้ประกันตนที่รับบำเหน็จอาจใช้จ่ายเงินหมดภายใน 5 ปีหลังการเกษียณ โดยแนวทางและมาตรการเพิ่มเติมมีดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณจ่ายเงินสมทบ เนื่องจากเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ 15,000 บาทใช้มามากกว่า 30 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้ ผู้ประกันตน 37.5% มีค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าเพดานค่าจ้างปัจจุบัน ขอเสนอให้ปรับเพดานค่าจ้างเป็น 17,500-20,000 บาทในปีนี้ และให้ปรับเพิ่มทุกปีตามการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ย การทำตามข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มประมาณ 5-6% โดยที่ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ยไม่ต้องรับภาระจ่ายสมทบเพิ่ม ส่วนผู้ประกันตนมีค่าจ้างสูงกว่าเพดานค่าจ้างเฉลี่ยใหม่ ต้องจ่ายสมทบเพิ่มเพียงเล็กน้อย
การกำหนดเพดานค่าจ้างเฉลี่ยให้เหมาะสม จะทำให้สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์และเงินสมทบให้เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเงิน และก่อให้เกิดความมั่นคงต่อกองทุนประกันสังคมอีกด้วย แม้ไม่มีนโยบาย 3 ขอ ก็จำเป็นต้องปรับเพดานค่าจ้างอยู่แล้ว ยิ่งมีนโยบายนี้ยิ่งต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกองทุน เพื่อกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อยภายในระบบประกันสังคม รายได้ที่เพิ่มเติมของกองทุนประกันสังคมทำให้กองทุนประกันสังคมสามารถจัดสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้ ทั้งกรณีว่างงาน และกรณีบำนาญชราภาพได้ดีขึ้น นอกจากนี้ เป็นการรองรับค่ารักษาพยาบาลที่ปรับสูงขึ้นด้วย
ข้อเท็จจริง ณ วันนี้ คือ มีผู้รับบำนาญสะสมแล้วถึง 420,000 คน จากประมาณการผู้รับบำนาญสะสมจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคนในปี 2574 อีกประมาณ 10 ปี หากมีการใช้นโยบาย 3 ขอโดยไม่ปรับเพิ่มเพดานค่าจ้างเฉลี่ย กองทุนชราภาพมีความเสี่ยงทางการเงินและอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลายสูงมาก หากผู้ประกันตนแห่กันไปขอคืนหรือรับบำเหน็จจำนวนมาก ส่วนการรับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีว่างงานในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด อย่างปี 2564 มีผู้ใช้สิทธิสูงถึง 1.5 ล้านคน ล่าสุด ผู้ใช้สิทธิประกันการว่างงานลดลงบ้างจากเศรษฐกิจ และภาวะการจ้างงานกระเตื้องขึ้น
ประการที่สอง การเพิ่มอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ประการที่สาม ควรศึกษาถึงความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราจ่ายเงินสมทบ ทั้งส่วนของนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อให้รายรับ (เงินไหลเข้ากองทุน) เพียงพอต่อ ยจ่าย (เงินไหลออกกองทุน) เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น อย่างค่าใช้จ่ายกรณีเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างอัตราเงินเฟ้อเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (Medical Inflation) อยู่ที่ 8-9%
ประการที่สี่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ความโปร่งใสตรวจสอบได้ ความเป็นอิสระ และเกิดการบริหารงานอย่างมืออาชีพ ลดการแทรกแซงทางการเมือง ลดการใช้นโยบายประชานิยมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของกองทุนประกันสังคม จึงเสนอให้มีการศึกษาเพื่อแปรสภาพ สำนักงานกองทุนประกันสังคม จากหน่วยราชการเป็นองค์กรอิสระของรัฐ ที่ประกอบไปด้วย คณะกรรมการที่มีมาจากการเลือกตั้งของผู้แทนผู้ประกันตน ผู้แทนนายจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒินักวิชาการจากการสรรหาที่โปร่งใสตรวจสอบได้ และผู้แทนกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น "การเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกันตน ในการใช้เงินกองทุนชราภาพตามข้อเรียกร้อง อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่เหมาะสมในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกันตนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าอย่างหนัก แต่จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวติดตามมาไม่น้อย" นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า กองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมนี้ ออกแบบมาเพื่อรับมือและลดความเสี่ยงหากสมาชิกกองทุนประกันสังคมมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าเงินที่เก็บออมไว้ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาสังคมชราภาพของไทย ตามหลักการต้องการเป็นหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงวัยมีบำนาญไว้ใช้จ่ายตลอดชั่วอายุขัย ซึ่งกองทุนประกันชราภาพของกองทุนประกันสังคมนั้นจะต่างจากระบบ Defined Contribution Scheme ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนการออมแห่งชาติที่ผู้ส่งสมทบจะมีบัญชีของตัวเองชัดเจน บำเหน็จบำนาญที่ได้จึงขึ้นอยู่กับเงินออมสมทบของตัวเอง ขณะที่ระบบประกันสังคมนั้นเป็นแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขจ่ายเงินบำนาญจากกองกลาง กองทุนชราภาพของกองทุนประกันสังคมอาจประสบปัญหาสภาพคล่อง หากมีคนมาขอใช้สิทธิรับบำเหน็จและขอคืนเงินจำนวนมาก แม้จะมีข้อกำหนดว่า ขอคืนได้ไม่เกิน 30% สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทก็ตาม หรือมาขอกู้กันมากๆเพราะมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องกองทุนประกันสังคมอาจมีปัญหาได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ในหลายประเทศ แม้มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็จะไม่ยอมให้จ่ายเป็นบำเหน็จ เพราะโดยหลักการกองทุนประกันชราภาพนั้น ต้องการให้เป็นหลักประกันรายได้ไปตลอดชีวิต มีบางประเทศให้รับบำเหน็จได้ แต่ผู้ประกันตนก็มักใช้เงินหมดภายในเวลาไม่กี่ปีและไม่มีหลักประกันรายได้ หลังจากนั้นและต้องกลับมาเป็นภาระของสังคมและรัฐในที่สุด ส่วนกรณีการขอคืน "เงินกองทุนชราภาพ" นั้นควรใช้มีวิธีขยายสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานสำหรับผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดีกว่า หรือรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่มีรายได้น้อย การดึงเงินจากกองทุนประกันชราภาพไปใช้เพื่อลดปัญหาทางงบประมาณหรือการก่อหนี้เพิ่มของรัฐเฉพาะหน้า แต่จะสร้างปัญหาระยะยาวติดตามมาอยู่ดี
ส่วนการขอกู้จากกองทุนหรือนำเงินที่สะสมไว้มาเป็นหลักประกันนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะลังเลปล่อยกู้หรือไม่ เพราะเงินสมทบก็คล้ายการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อซื้อบริการไปแล้ว หากเอาเงินสมทบมาขอกู้เงินความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น ยกเว้นธนาคารของรัฐที่รัฐบาลสั่งให้สนองนโยบาย หรืออีกทางหนึ่ง สำนักงานประกันสังคมต้องจัดตั้ง "ธนาคารของกองทุนประกันสังคม" ขึ้นมา ขอให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลพิจารณาข้อเสนอ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อกองทุนประกันสังคมด้วยความรอบคอบ