ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) ประเมินว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนถึงขั้นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องเรียกประชุมนัดพิเศษก่อนการประชุมตามรอบปกติในเดือน ส.ค.65 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยไม่ได้มีความน่ากังวลมาก โดยจะเห็นได้จากในอดีตการประชุม กนง.นัดพิเศษในวันที่ 20 มี.ค.63 มาจาการที่ประเทศไทยเผชิญกับผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนักจนทำให้ กนง.ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.00% มาเหลือ 0.75% เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอย่างเร่งด่วน
"สถานการณ์ตอนนี้คงไม่ถึงกับที่ กนง.จะต้องมีประชุมนัดพิเศษ เนื่องจากการประชุมเร่งด่วนจริงๆ น่าจะเป็นเพื่อการลดดอกเบี้ย เพราะกังวลว่าเศรษฐกิจจะฟุบมากกว่า เหมือนที่ได้เห็นตอน มี.ค.63 ที่มีการประชุม กนง.นัดพิเศษรอบนั้น ตอนนั้นมีปัญหาจากการระบาดของโควิด...ถ้าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจแค่ส่งสัญญาณ คงไม่ต้องประชุมเร่งด่วน"นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
สำหรับแนวโน้มการประชุม กนง.ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ที่เหลืออีก 3 รอบ คือ ส.ค., ก.ย.และ พ.ย. มองว่า อย่างน้อย 2 ใน 3 จะต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกคราวละ 0.25% เหตุผลหลักคงจะมาจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้น
นายพชรพจน์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงสิ้นปี 65 มีโอกาสจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.00% ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยคราวละ 0.25% อย่างน้อย 2 ครั้งในการประชุม 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ การประชุม กนง.ในเดือน ส.ค.65 หากสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยยังไม่เปลี่ยนไปจากปัจจุบันมากนัก เชื่อว่ามีโอกาสประมาณ 70% ที่ กนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่หากเป็นในเดือน ก.ย.65 ยิ่งมีโอกาสมากถึง 90% ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งตรงกับรอบที่ กนง.ต้องปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยด้วย และมีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับ GDP ปีนี้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย จากล่าสุดที่ กนง.ประเมินไว้ที่ 3.3%
นายพชรพจน์ ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสจะขยายตัวใกล้เคียงระดับ 3.5% และมองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปฟื้นตัวได้เทียบเท่ากับระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิดได้ประมาณต้นปี 66 สอดคล้องกับความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6%
"ตอนนี้เศรษฐกิจของเราผ่านก้นเหวมาแล้ว จากนี้คือค่อยๆ เริ่มไต่ขึ้น แต่จะขึ้นเร็วหรือช้า ส่วนหนึ่งก็มาจากภาคการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งมองว่าทั้งปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ราว 6 ล้านคน ครึ่งปีแรกได้ 1 ล้านคนแล้ว ที่เหลืออีก 5 ล้านคน ก็คาดว่าจะเข้ามาช่วงครึ่งปีหลัง หากใน 5 ล้านคน มีการใช้จ่ายอย่างน้อยคนละ 5-6 หมื่นบาท ก็คิดเป็นรายได้กว่า 3 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งจะมีผลบวกต่อ GDP ได้อีก 2.0% ซึ่งทำให้เรามองว่ามีโอกาสที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตใกล้เคียง 3.5%" นายพชรพจน์ กล่าว