นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกรณีที่ห้างวอลมาร์ทของสหรัฐอเมริกา ถอดสินค้ากะทิของประเทศไทยออกจากชั้นวางจำหน่ายสินค้า ภายหลังจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) อ้างว่าไทยใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวว่า กระแสข่าวดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกะทิในเชิงมูลค่าไม่มากนัก เพราะกะทิใช้ในธุรกิจร้านอาหาร และตลาดผู้บริโภคเชื้อชาติอื่นมากกว่าตลาดผู้บริโภคหลักชาวอเมริกัน โดยปี 64 ไทยส่งออกกะทิไปทั่วโลก 26,582.56 ล้านบาท และตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นหนึ่งในสี่ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป จัดทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และออกแถลงการณ์ของสมาคมฯ เกี่ยวกับวิธีการปลูกและเก็บมะพร้าว ซึ่งไม่ได้ใช้แรงงานลิงในอุตสาหกรรมส่งออก โดยได้เผยแพร่ต่อผู้นำเข้า และห้างที่จำหน่ายสินค้าในหลายโอกาสอย่างต่อเนื่อง และผู้นำเข้าส่วนใหญ่เข้าใจวัฒนธรรมของไทย
พร้อมย้ำว่า ที่สำคัญ มะพร้าวที่นำมาแปรรูปในอุตสาหกรรม ใช้แรงงานคน และเครื่องจักร สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ส่วนลิงขึ้นมะพร้าวนั้น เป็นวิถีชีวิตชุมชนที่อยู่คู่กันมานาน และมะพร้าวที่ลิงเก็บ ก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรมแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงไปยัง PETA ว่า ผู้ผลิตกะทิสำเร็จรูปของไทย ผลิตสินค้าตามคุณภาพตามมาตรฐานนานาชาติ ทั้งกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การมีสวัสดิการที่ดีให้แรงงาน รวมถึงการค้าอย่างเป็นธรรมกับเกษตรกร พร้อมกับเน้นย้ำว่า ไทยมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เพื่อป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ขณะเดียวกัน ได้เร่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งจัดทำบัญชีรายชื่อสวนมะพร้าวที่ไม่ได้ใช้ลิงเก็บมะพร้าว (No-monkey Farm list) แล้ว
นายภูสิต กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ในสหรัฐฯ ทราบว่า ทูตพาณิชย์ได้ติดต่อผู้นำเข้าและซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่ขายสินค้าไทยอยู่ตลอด พบว่า โดยทั่วไป การที่จะมีหรือไม่มีสินค้าบางชนิด/บางยี่ห้อ วางขายในบางช่วงเวลานั้น เป็นไปตามวงจรการวางขายสินค้าของร้าน ที่ได้ปรับสินค้าและปริมาณการขายให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคตามฤดูกาล
อย่างไรก็ดี ขณะนี้วอลมาร์ทยังคงนำเข้าและขายสินค้าจากไทย รวมถึงรักษาความสัมพันธ์อันดีตามปกติ ซึ่งคาดว่า PETA อาจใช้ช่วงเวลาที่ไม่มีกะทิจากไทยวางขาย ไปสร้างประเด็นทางการค้า
อนึ่ง เมื่อปี 63 PETA เคยระบุว่า มะพร้าวที่ไทยใช้ผลิตเป็นกะทิแล้วส่งออกไปทั่วโลกนั้น มาจากการใช้แรงงานลิง ส่งผลให้ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักร นำผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ทั้งกะทิ, น้ำมะพร้าว, น้ำมันมะพร้าว ออกจากชั้นวางจำหน่าย ส่งผลให้กระทรวงพาณิชย์ ต้องเร่งทำหนังสือชี้แจงว่ามะพร้าวที่ใช้ในอุตสาหกรรม ไม่ได้ใช้ลิงเก็บ แต่ใช้แรงงานคนและเครื่องจักรเป็นหลัก เพราะเก็บในปริมาณมาก รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้าและห้างต่างๆ จนทำให้ปัญหานี้หมดไป แต่มาขณะนี้ PETA กลับมากระพือข่าวเดิมอีกครั้ง และไทยต้องเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้า และห้างต่างๆ อย่างต่อเนื่อง