ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 ลงเหลือ 3.1% จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ที่ 4.2% เมื่อเดือนพ.ย. 64 ซึ่งมาจากผลกระทบด้านราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมกับคาดการณ์แนวโน้มการส่งออกไทยปีนี้ จะขยายตัว 6.3% จากประมาณการเดิมที่ 5.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.0% จากประมาณการเดิมที่ 1.5%
ทั้งนี้ การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลง มาจากสมมติฐานสำคัญ คือ 1. ปริมาณการค้าโลก ลดลงมาอยู่ที่ 4% ส่วน GDP โลก ลดลงเหลือ 2.9% 2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 6.1 ล้านคน 3. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 34.25 บาท/ดอลลาร์ 4. ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีที่ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล 5. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี ที่ระดับ 0.50-1.00%
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลให้ราคาพลังงาน ตลอดจนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาวัตถุดิบนำเข้าปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง มีผลทำให้อุปสงค์โดยรวมของโลกชะลอตัวลง การที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ได้สร้างแรงกดดันให้ธนาคารกลางของประเทศหลักๆ ต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับต่างประเทศกว้างขึ้น จึงมีเงินทุนไหลกลับเข้าไปที่ตลาดสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไปใกล้เคียงกับระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงต้นปีที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทที่อ่อนค่า จะส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกในปีนี้
สำหรับปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ได้แก่ 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 2. การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและยาวนาน ทำให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ 3.ธนาคารกลางของประเทศหลัก ถูกกดดันให้ปรบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4.ปัญหาชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิตทั่วโลก 5.เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการ Zero Covid 6.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทย ได้แก่ 1.จำนวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง 2.การผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น 3.เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น หลังจากผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 4.ภาคเอกชนในประเทศเริ่มกลับมาใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค-บริโภคอีกครั้ง 5.ภาครัฐมีการออกมาตรการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 6.ความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง/ฝนทิ้งช่วงในปี 65 มีแนวโน้มลดลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 65 โดยแบ่งเป็น 4 กรณี ดังนี้
1. กรณีฐาน (Base Case) : การปรับให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นจนเกินระดับที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะรองรับได้ โดยในกรณี Base Case นี้คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 3.1% ซึ่งมีโอกาสจะเป็นไปได้ 60%
2. กรณีที่ดีกว่า (Better Case) : ราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ราว 100 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยในกรณี Better Case นี้ คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 3.5% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 10%
3. กรณีที่แย่กว่า (Worse Case) : คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบง.) ทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่ไม่เกิน 40 บาท/ลิตร ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ทั้ง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% โดยในกรณี Worse Case นี้คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.9% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 20%
4. กรณีที่แย่ที่สุด (Worst Case) : เป็นกรณี Worse Case รวมกับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงเกินกว่า 130 ดอลลาร์/บาร์เรล และมีผลทำให้อุปสงค์รวมของโลก ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวชะลอตัวลงจากกรณีฐาน โดยในกรณี Worst Case นี้ คาดการณ์ GDP ไว้ที่ 2.3% ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ 10%
"การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลทุก 1 บาท/ลิตร มีผลกระทบต่อ GDP -0.2% และการขึ้นราคาเบนซินทุก 1 บาท/ลิตร มีผลกระทบต่อ GDP -0.1% ซึ่งหากขึ้นราคาทั้งดีเซลและเบนซิน รวมกันจะมีผลต่อ GDP -0.3% ต่อปี...ทิศทางเศรษฐกิจโลก โดนผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง มาตั้งแต่เดือนม.ค. ที่ขึ้นมาประมาณ 10 บาท/ลิตร ทำให้เราต้องย่อเศรษฐกิจลงทันที ประมาณ 1% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4.2% มาเหลือ 3.1%" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และเริ่มกลับมาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย ซึ่งคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 5 ล้านคน ตลอดจนการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ จะมีส่วนช่วยทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ราว 2-3 แสนล้านบาท ประกอบกับมูลค่าการส่งออกปีนี้ ที่คาดว่าจะเติบโติได้ราว 6-7% ซึ่งได้อานิสงค์จากเงินบาทที่อ่อนค่า คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3.8% จากในช่วงครึ่งปีแรก ที่เติบโตได้ราว 2.3%
"ทำให้ทั้งปีนี้ ม.หอการค้าฯ จึงประเมินเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวได้ 3.1% โดยให้กรอบไว้ในช่วง 2.9-3.5% โดยตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังมาจากการส่งออก การท่องเที่ยว และการเปิดประเทศ ส่วนกรณีของการเปิดเสรีกัญชานั้น ไม่ได้เป็นประเด็น" นายธนวรรธน์ ระบุ