นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2565 รอบใหม่ในเดือน ก.ค.65 จากปัจจุบันที่คาดการณ์ว่าปีนี้ GDP จะขยายตัวได้ 3.5%
โดยการทบทวนจะพิจารณาจากหลายปัจจัย เนื่องจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50-1.75% ทำให้มีส่วนต่างกับอัตราดอกเบี้ยไทยค่อนข้างมาก อาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะหนึ่ง เมื่อทุกอย่างเข้าที่เรียบร้อย การไหลเข้า-ออกของเงินทุนก็จะเป็นปกติ
นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น มีผลทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ล้วนมีผลต่อกำลังซื้อ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดทั้งหมด
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ปัจจัยลบที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยมากที่สุดในขณะนี้ คือสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในการพิจารณา รวมถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-เม.ย.65) จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายถึง 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ก็จะมีการสูญเสียรายได้จากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเดือนละ 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งจะทำให้รายได้หายไปเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท รวม 2 เดือน กว่า 2 หมื่นล้านบาทเข้ามาพิจารณาด้วย แต่ยังมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2565 จะเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่ 2.4 ล้านล้านบาท ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อ ต้องดูว่ามีผลกระทบต่อภาคการคลังหรือไม่ อย่างไร
"ขณะนี้ หลายหน่วยงานมองแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ใกล้เคียงกันที่ประมาณ 3-3.5% ต่อปี โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็น 3.3% จากเดิมที่ 3.2% ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ อยู่ที่ 3% กระทรวงการคลังที่ 3.5% กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อยู่ที่ 3% ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน" นายพรชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกที่สนับสนุนศักยภาพเศรษฐกิจของไทย เช่น ทุนสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศ ขณะที่หนี้ต่างประเทศระยะสั้นมีไม่มากนัก เหล่านี้เป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านภาคการเงินและการคลัง
นายพรชัย กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า สภาพัฒน์ จะเสนอชุดมาตรการในการบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ส่งผลทำให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมาตรการที่เกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันนั้น กระทรวงพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะที่กระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการสนับสนุนการจัดประชุม สัมมนา และอีเว้นท์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการกระจายรายได้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักลดหย่อนได้ โดยหากเป็นการจัดในจังหวัดหลักสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า และหากจัดในจังหวัดรองสามารถลดหย่อยภาษีได้ 2 เท่า
"มาตรการดังกล่าว จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในปีงบประมาณ 2566 จำนวนไม่มาก ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น แต่ในทางกลับกันจะช่วยกระตุ้นและกระจายรายได้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีพื้นที่ในการทำธุรกิจได้มากขึ้น" นายพรชัย กล่าว