นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบความคืบหน้าและแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลักได้รับมอบหมายให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกอาหารแปรรูปของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะมีมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ส่วนภาพรวมปี 2565 คาดจะถึงจุดสูงสุดเดิมและมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก และก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก ผ่านการขับเคลื่อน 4 มาตรการหลักตามแผนปฏิบัติการ เพื่อเร่งสร้างโอกาสสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต
โดยมีความคืบหน้า ดังนี้
มาตรการที่ 1 การสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) ผ่าน 4 หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสถาบันอาหาร) ในการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ สถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ผ่านการอบรมและให้คำปรึกษาด้านการเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากลและมาตรฐานฮาลาล (HALAL) ถ่ายทอดความรู้เชิงธุรกิจและการนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เช่น การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่สากล การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล รวมทั้งสิ้น 3,218 ราย (4,836 คน) พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า 390 ผลิตภัณฑ์
มาตรการที่ 2 การสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต มีการเชื่อมโยงกลไกและให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาผ่านเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการได้รับการเสริมสร้างความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม 651 ราย สร้างนักวิจัยให้สามารถผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง เช่น การวิจัยและพัฒนาสารสกัดที่มีฤทธิ์ต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำหรับผู้สูงอายุ และจัดให้มีศูนย์บริการด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารให้บริการครบวงจร นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานกว่า 791 ราย
มาตรการที่ 3 การสร้างโอกาสทางธุรกิจยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ จัดงานแสดงสินค้าระดับโลกในไทย จำนวน 2 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่ลงทะเบียนในแฟลตฟอร์ม ทั้งสิ้น 2,363 ราย 2,088 บริษัท 97 ประเทศ มูลค่าการสั่งซื้อรวมประมาณ 3,122.8069 ล้านบาท ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้การส่งเสริม กิจการอุตสาหกรรมแปรรูปที่เป็น SMEs มูลค่า 322 ล้านบาท และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดทำและปรับปรุงฐานข้อมูล SMEs ประเทศไทย และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ SMEs Big Data
และมาตรการที่ 4 สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารจำนวน 14 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดทำโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตอ้อยพันธุ์ดีและส่งเสริมอ้อยพันธุ์ใหม่ ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าประมง การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรโดยการจดทะเบียนตรวจสอบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดทำโครงการเตรียมความพร้อม Smart Farmer ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤตอาหารโลก ปี 2565 ที่ผลผลิตลดลงและราคาปรับตัวสูงขึ้น สร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อความมั่นคงอาหารในหลายมิติ ทั้งทางด้านความเพียงพอ การเข้าถึงอาหาร โภชนาการ รวมถึงความปลอดภัยนั้น ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่สำคัญของโลก โดยมีสินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ ข้าว (ผลิต 22 ล้านตัน บริโภค 10 ล้านตัน) แป้งมันสำปะหลัง (ผลิต 7 ล้านตัน บริโภค 2 ล้านตัน) โปรตีนจากไก่ และสุกร ขณะเดียวกันยังเป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าอาหาร เช่น ปลาทะเลแช่แข็ง ข้าวสาลี และข้าวโพด ซึ่งในส่วนของสินค้าที่ต้องนำเข้านั้นทางภาครัฐจะมีกลไกในการควบคุม ดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และเมื่อพิจารณาในภาพรวมด้านอุปทาน (supply) อาหารของไทยแล้ว คาดว่าประเทศไทยจะไม่ประสบปัญหาวิกฤตความมั่นคงด้านอาหารอย่างแน่นอน