นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายภาษีลาภลอย (Windfall tax) ที่กระทรวงการคลังได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และหากรัฐบาลมีเหตุผลที่จะต้องดำเนินการเก็บภาษีในส่วนนี้ ก็พร้อมจะทำได้
"ร่างกฎหมายเดิมมีอยู่แล้ว กระทรวงการคลังเคยเสนอ แต่เรื่องนี้ก็ตกไป โดยหากตอนนี้รัฐบาลมีเหตุผลที่จะทำ ก็พร้อมจะหยิบมาดำเนินการได้ มองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และน่าจะใช้ แต่ไม่ใช่ว่าจะนำมาเสนออีก ทั้งหมดอยู่ที่เหตุผลของรัฐบาล หากมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะดำเนินการ" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีเครื่องมือต่าง ๆ อีกมาก แต่การจะนำออกมาใช้ต้องดูสถานการณ์ให้ต้องเหมาะสม และใช้ให้ถูกจังหวะ รวมถึงพิจารณาถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้วางนโยบายในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ศึกษาถึงแผนการดำเนินการในมิติต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีใหม่ๆ เตรียมพร้อมเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องการใช้ก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นฐานรายได้ของรัฐบาล โดยภาษีใหม่ ๆ ที่มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น ภาษีอี-คอมเมิร์ซ, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
สำหรับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. 65 นั้น กระทรวงคลังจะร่วมกับฝ่ายนโยบายพิจารณาว่าต้องขยายเวลาต่อไปอีก เพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะฐานะการคลัง ว่าภาพรวมการจัดเก็บรายได้มีแนวโน้มเป็นอย่างไร
"ล่าสุด ผลการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลัง ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 (ต.ค.64-เม.ย.65) ยังเกินกว่าเป้าหมายราว 4.5 หมื่นล้านบาท โดยแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในส่วนที่เหลือของปีงบประมาณ 65 ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ดังนั้นก็ต้องพิจารณาในส่วนนี้ว่า หากมีการลดภาษีดังกล่าวเพิ่มอีก จะส่งผลให้รายได้หายไปเท่าไร ซึ่งทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย" ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ
ก่อนหน้านี้ สศค. เคยคาดการณ์ว่าการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ลงลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน จะทำให้รายได้รัฐหายไปเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท ถ้ารวม 2 เดือน จะสูญรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท