นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เรียกหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปการใช้งบประมาณของโครงการอยู่ดีมีสุขที่เหลือกว่า 9,000 ล้านบาทให้ชัดเจนว่ามีการใช้ไปแล้วตามข้อเท็จจริงเป็นจำนวนเท่าใด และให้นำมาเสนอให้พิจารณาอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน(SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก่อนจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในอังคารหน้า
"ตัวเลขที่นำมารายงานให้ทราบยังไม่ตรงกัน นอกจากนี้จะหารือกับสำนักงบประมาณเพื่อให้พิจารณาในรายละเอียดว่าจากนี้ไปจะสามารถนำงบประมาณของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และงบประมาณของโครงการเอสเอ็มแอลมาบูรณาการกันได้อย่างไร เพื่อให้การใช้เงินงบประมาณนั้นเกิดประโยชน์มากที่สุด" นายปานปรีย์ พหิทธานุกร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี กล่าว
โดยวันนี้จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ทั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และโครงการเอสเอ็มแอล
นายปานปรีย์ กล่าวว่า นโยบายในเรื่องดังกล่าวถือเป็นโครงการหลักที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและได้สัญญากับประชาชนไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่ง นพ.สุรพงษ์ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากจึงได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเสนอรายละเอียดอุปสรรคปัญหาให้ชัดเจน ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาในวันที่ 25 มี.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเอสเอ็มแอลในปัจจุบันคือจะทำอย่างไรเพื่อโยกงบประมาณจากโครงการอยู่ดีมีสุขมาใช้ในโครงการเอสเอ็มแอล เพื่อให้การใช้เงินได้ถูกต้องตามกฎหมายและให้เงินลงไปถึงรากหญ้าโดยเร็วที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ขณะที่การเพิ่มขนาดของหมู่บ้านนั้นจะดำเนินการในระยะต่อไปเพราะต้องจัดสรรเงินงบประมาณให้เพียงพอกับหมู่บ้านที่มีอยู่ก่อน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า สำนักงบประมาณได้รายงานการใช้เงินจากโครงการอยู่ดีมีสุขต่อที่ประชุมถึงวันที่ 19 มี.ค.51 พบว่าได้มีการใช้เงินงบประมาณไปแล้วจำนวน 6,371 ล้านบาท ทำให้มีเงินงบประมาณเหลืออยู่ราว 8,763 ล้านบาท และเพื่อให้การใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างถูกต้องจะต้องยุติโครงการอยู่ดีมีสุขแล้วนำงบประมาณที่เหลือทั้งหมดส่งคืนกลับไปยังกระทรวงการคลังเพื่อให้รวมอยู่ในหมวดงบกลาง จากนั้นสำนักงานโครงการเอสเอ็มแอลจึงทำเรื่องเพื่อขอใช้งบประมาณในโครงการเอสเอ็มแอลให้ถูกต้องต่อไป
นอกจากนี้ยังพบว่า หลังจากรัฐบาลได้ประกาศนโยบายว่าจะมีการโยกงบประมาณจากโครงการอยู่ดีมีสุขไปให้โครงการเอสเอ็มแอลทำให้มีผู้ว่าฯ หลายจังหวัดต่างเร่งขอเบิกงบประมาณเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้ยอดเงินที่เหลืออยู่ในเดือน ก.พ.อยู่กว่า 9,000 ล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ 8,700 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่จะมีการเบิกงบประมาณเฉลี่ยเดือนละไม่กี่ร้อยล้านบาทเท่านั้น
*เตรียมเสนอขยายกองทุนหมู่บ้านตามจำนวนประชากร
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในที่ประชุมจะมีการเสนอให้ นพ.สุรพงษ์ พิจารณาเพิ่มขนาดของหมู่บ้านเพิ่มขึ้นด้วยขนาดด้วย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมของหมู่บ้านที่มีอยู่และที่เกิดขึ้นใหม่ และสามารถกระจายเงินไปสู่รากหญ้าได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทั้งขนาดเอส 1 ที่มีประชากรไม่เกิน 100 คน ขนาดเอส 2 ที่มีประชากรตั้งแต่ 100-200 คน และขนาดเอ็กซ์แอล ที่มีจำนวนประชากรขนาด 1,500 -3,000 คน ที่จะได้งบประมาณ 350,000-400,000 บาท นอกเหนือจากขนาดเอส,เอ็มและแอล
"ที่สำคัญจะมีการพิจารณาการจัดทำหลักเกณฑ์การจัดทำงบประมาณเอสเอ็มแอล ให้เชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆที่จะพัฒนาให้รากหญ้านั้นเกิดความแข็งแรง ทั้งโครงการกองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน ธนาคารประชาชน หรือโครงการโอทอป เป็นต้น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณนั้นมีการบูรณาการและคุ้มค่ามากที่สุด" แหล่งข่าว กล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อให้มาตรการรากหญ้าที่ออกมาเป็นแพ็คเกจที่ชัดเจนและมีพลังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากหญ้า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปกำหนดรายละเอียดของแต่ละโครงการให้ชัดเจนด้วยว่าจะเปิดตัวโครงการที่ชัดเจนได้เมื่อใด โดยโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรจะสามารถประเดิมโครงการได้ก่อนในต้นเดือน เม.ย.นี้ ส่วนโครงการอื่นอาจประกาศได้ภายหลังจากเทศกาลสงกรานต์ ส่วนเรื่องการลดดอกเบี้ยให้กับธนาคารประชาชนเหลือ 0.75% นั้น ธนาคารออมสินต้องไปกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนต่อไปว่าจะลดให้กับลูกหนี้กลุ่มใด ขณะเดียวกันยังจะมีการเสนอให้เป็นนิติบุคคล โดยหมู่บ้านจะต้องมีคณะกรรมการเพียงคณะเดียว
สำหรับคณะกรรมการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน(SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มี นพ.สุรพงษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน และกรรมการอื่นๆ อีก 35 คน นอกจากนี้ยังมีรายชื่อนายนที ขลิบทอง อดีตผอ.สำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน(สปท.), นายสมนึก พิมลเสถียร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, นายชัยยง เอื้อวิริยานุกูล อธิบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนายโชติชัย เจริญงาม อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ปทุมธานี ร่วมเป็นกรรมการ
--อินโฟเควสท์ โดย รบฦ3/เสาวลักษณ์/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--