ฟิทช์ คงอันดับความน่าเชื่อถือไทย มอง GDP โต 4.5% จับตาเงินเฟ้อ-หนี้ครัวเรือนใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 22, 2022 08:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 65 บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) มีความเข้มแข็งเป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ โดยมีกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง โดย Fitch คาดว่า ปี 65 ประเทศไทยจะขาดดุลงบประมาณลดลง เนื่องจากมีการจัดเก็บรายได้ที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่อนคลายขึ้น

สำหรับสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทยปี 65 คาดว่า จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55.4% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ในระดับค่ากลางเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) โดยจะสูงขึ้นเป็น 56.6% ต่อ GDP ในปี 69

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีแนวทางการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบ และมีหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินบาท ประกอบกับมีตลาดทุนในประเทศที่มั่นคง

นอกจากนี้ Fitch คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวที่ 4.5% เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านคนในปี 65 เป็น 22 ล้านคนในปี 66

2. ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 7.8 เดือน ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกับ (BBB Peers) ที่ 5.6 เดือน

ทั้งนี้ Fitch คาดว่า ปี 65 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะขาดดุล 1.8% ต่อ GDP ซึ่งลดลงจาก 2.1% ต่อ GDP ในปี 64 และจะกลับมาเกินดุลที่ 1.0% ต่อ GDP และ 2.8% ต่อ GDP ในปี 66 และปี 67 ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น

สำหรับประเด็นที่ Fitch ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนต่อ GDP สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐ และการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ