ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 2 และ 8 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปีโดย 3 เสียง เห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
"มองไปข้างหน้า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง กรรมการ 4 ท่านเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องตามคาด...ส่วนกรรมการ 3 ท่าน เห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนเพียงพอที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้" รายงาน กนง.ระบุ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัว 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ จาก (1) การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในหมวดบริการ สะท้อนจากข้อมูลการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ที่ฟื้นตัวดีกว่าคาดมาก ประกอบกับอุปสงค์คงค้างจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่จะช่วยเพิ่มการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป
(2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศของไทยและต่างประเทศที่เร็วขึ้น โดยไทยได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ การยกเลิกระบบ Test & Go ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 และมีแผนจะยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคม 2565
(3) ตลาดแรงงานและรายได้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับดีขึ้น ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานปรับลดลงเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาด COVID-19 แต่ต้องติดตามการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้ออกนอกกำลังแรงงาน หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศมีความชัดเจนขึ้น
"เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประมาณการไว้ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่อาจดีกว่าที่คาด อีกทั้งการระบาดของโควิด-19 กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจจำกัดตามที่ประเมินไว้" รายงาน กนง.ระบุ
อย่างไรก็ดี ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงในระยะต่อไป ได้แก่ (1) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ซึ่งเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่ยังยืดเยื้อ จึงต้องติดตามการส่งผ่านต้นทุนไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในระยะต่อไป และ (2) เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวลดลงจากการระบาดของโอมิครอน และการใช้มาตรการ zero-COVID ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้า และภาคการส่งออกของไทย
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมายตลอดปี โดยประมาณการเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 6.2% ตามราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้น และกระจายตัวในหมวดสินค้าที่หลากหลายขึ้น โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นยังเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (costpush inflation) เป็นสำคัญ
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยลดลง และจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 จากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง และการส่งผ่านต้นทุนที่คาดว่าจะทยอยลดลง ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลาง ไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% แม้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้นจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จาก (1) ราคาน้ำมันที่มีโอกาสอยู่ในระดับสูงกว่าที่ประเมินไว้ (2) การส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่คาดว่าจะเริ่มมากและเร็วกว่าคาด จากภาวะที่ต้นทุนหลายด้านปรับสูงขึ้นพร้อมกัน รวมถึงผลการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะทยอยส่งผลในปี 2566 (3) แรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป (demand-pull inflation)
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ ได้มีการอภิปรายกัน คือ น้ำหนักของความเสี่ยง (balance of risks) ในการตัดสินนโยบายการเงินเริ่มเปลี่ยนไปจากการประเมินครั้งที่แล้ว โดยน้ำหนักความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจปรับลดลง ขณะที่น้ำหนักความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลง และควรให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการดำเนินนโยบายการเงินที่ทันการณ์ รวมทั้งควรสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) เพื่อรองรับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนัก (trade-off) ระหว่างการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอย่างรอบด้าน ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นที่สอดคล้องกัน ได้แก่
(1) หากอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลลบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจะทำให้รายได้ที่แท้จริงของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับลดลง โดยกำลังซื้อที่ถูกลดทอนลง อาจกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
(2) ภายใต้ภาวะที่เงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช้าเกินไป อาจก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงควรเริ่มในช่วงเวลาที่เหมาะสมและทันการณ์ เพื่อสามารถดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
(3) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้อย่างราบรื่น จะส่งผลกระทบอย่างจำกัดต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินในภาพรวม
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสม ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายทั้ง 3 ด้านดังกล่าว ตามแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และประสิทธิผลของเครื่องมือเชิงนโยบายด้านอื่น ๆ ในภาพรวมควบคู่ไปด้วย
"ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนขึ้น จึงเห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบัน จะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้สอดคล้องกับแนวโน้ม และความเสี่ยงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผลของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ" รายงาน กนง.ระบุ