นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวได้ 4.3-4.5% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะโตได้ 3% โดยมาจากแรงหนุนการส่งออก และท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 7-10 ล้านคน แต่ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างใกล้ชิด ได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐและสหภาพยุโรป เศรษฐกิจจีนชะลอตัว
"ต่างประเทศยังเชื่อมั่นประเทศไทย โครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจยังดีอยู่ ปีหน้าน่าจะโตได้ 4.3-4.5% ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เพราะความเสี่ยงมันเยอะ" นายดนุชา กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "สู่โอกาสใหม่ Stronger Thailand"
นายดนุชา กล่าวว่า หลังจากหารือกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วมองกันว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะมีอัตราการขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% แน่นอน เนื่องจากการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้นท่ามกลางความเสี่ยงก็เป็นโอกาสในการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 7-10 ล้านคน ส่วนการบริโภคภายในประเทศมีอัตราขยายตัว 8% แต่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังลดลงจากความกังวลเรื่องค่าครองชีพ และราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรก็ดีขึ้น อัตราผู้เข้าพักในโรงแรมสูงขึ้น
ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้พบว่าสินเชื่อภาคธุรกิจมีการขยายตัวแสดงว่าภาคเอกชนมีการขยายการลงทุนอย่างช้าๆ แต่ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีแนวโน้มลดลง สถานการณ์ในภาพรวมเริ่มปรับตัวดีขึ้น
ส่วนสาเหตุที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตครั้งนี้ไม่สูงในระดับ 6-7% เหมือนที่ผ่านมา เนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเปลี่ยนไปจากการผลิตเป็นการท่องเที่ยว
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า หลังจากนี้ไปจะต้องมีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้ ในส่วนของสภาพัฒน์เองได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่มีการกำหนดโครงการที่ชัดเจน ไม่ได้เป็นเรื่องกว้างๆ เหมือนที่ผ่านมา แม้จะยังไม่ถึงช่วงเวลาที่นำมาบังคับใช้แต่ได้เตรียมการรองรับไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเน้นเรื่องการวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ การปรับฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV3) การขยายธุรกิจกระขายไปในภูมิภาคมากขึ้น
นายดนุชา กล่าวว่า วิกฤตที่ประเทศไทยประสบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีความซ้ำซ้อน ความเสี่ยงสูง และคาดการณ์ได้ยาก ไม่เหมือนในอดีตที่เกิดขึ้นเฉพาะจุดสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่าย สำหรับการแก้ไขวิกฤตโควิด-19 นั้นได้มีการดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.การรักษาชีวิตของประชาชน โดยการจัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลและจัดหาวัคซีนเพื่อควบคุมสถานการณ์ แต่ก็เกิดปัญหาการแพร่ระบาดปะทุขึ้นมาเป็นระยะๆ 2.การเยียวยาประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระก่อนที่จะพุ่งเป้าไปยังกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และ 3.การกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีจำกัดเหลือเพียงการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก แต่พอวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลายก็เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
ส่วนปัญหาพลังงาน รัฐบาลได้เข้ามาดูแลราคาไม่ให้สูงเกินไป และต้องขอบคุณผู้ประกอบการที่ยังไม่ผลักภาระให้กับผู้บริโภค ซึ่งสถานการณ์ในปีนี้ทุกคนคงต้องดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง และช่วยกันประหยัดพลังงาน หลังจากเดือน ก.ย.แล้วก็จะมีการพิจารณาว่าจะปรับมาตรการอย่างไร
ขณะที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญหาสังคมผู้สูงวัยยังคงมีอยู่ต่อไป ปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ที่พยายามให้เกิดการแบ่งขั้วมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องกำหนดบทบาทตัวเองให้เหมาะสม รักษาผลประโยชน์สูงสุด
"ตอนนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทุกคนต้องลดความขัดแย้งเพื่อหันมาช่วยกันพาประเทศให้ก่าวหน้าต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคงในอนาคต" นายดนุชา กล่าว