APEC SFOM หารือการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน-มุ่งสู่ศก.ดิจิทัล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 22, 2022 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 22 - 23 มิถุนายน 2565 กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials? Meeting: APEC SFOM) ณ จังหวัดขอนแก่น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคและองค์การระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลุ่มธนาคารโลก (WBG) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และหน่วยงานสนับสนุนนโยบายของเอเปค (APEC Policy Support Unit: APEC PSU)

ทั้งนี้ ในกาปรระชุมมีการหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ และประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization for Digital Economy) ภายใต้แนวคิด "ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งสู่การเงินการคลังยั่งยืน" โดยในวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เป็นการประชุมเพื่อหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจและการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีสาระสำคัญของผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้

1. ผลการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นด้านเศรษฐกิจ โดยผู้แทนจาก IMF ได้รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 65 ว่าจะขยายตัวที่ 3.6% ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.1% ต่อปี ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 65 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.3% ต่อปี ที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.9% ต่อปี จากปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แนวโน้มนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผลการคาดการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ WBG ADB และ APEC PSU นอกจากนี้ ADB ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าความร่วมมือของภูมิภาคเอเปคในด้านเศรษฐกิจจะช่วยส่งผลให้เศรษฐกิจของเอเปคสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะผู้แทนไทยได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.0 - 3.5% ต่อปี โดยขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.5% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทย และนโยบายการคลังที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพต่อกลุ่มเป้าหมาย การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน และการส่งเสริมการลงทุนในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

ส่วนผลการหารือในประเด็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของผลการสัมมนาเรื่อง การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความยั่งยืนในตลาดทุน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดขอนแก่น โดยผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้รายงานสรุปประเด็นที่สำคัญด้านการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในมุมมองของผู้กำหนดนโยบาย และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างความยั่งยืนในตลาดทุน

นอกจากนี้ ADB และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้นำเสนอประสบการณ์ด้านการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศดังกล่าว ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การจัดทำมาตรฐานในการรายงานความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Risks) และการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Taxonomy) ที่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของแต่ละสมาชิกเขตเศรษฐกิจ

นายวโรทัย ได้กล่าวถึงการดำเนินงานของกระทรวงการคลัง ที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยการสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดทำกรอบการพัฒนาด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และได้มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนโครงการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการออกพันธบัตรดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารจัดการให้ตลาดพันธบัตรมีสภาพคล่องที่เหมาะสม โดยปัจจุบันมีวงเงินคงค้างของพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนรวม 2.12 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในช่วงเย็นของวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ประชุมจะมีการหารือในประเด็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินนโยบายการคลัง ทั้งในส่วนการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ การพัฒนาการเชื่อมโยงการชำระเงินในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปค และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทางการระดมทุนดิจิทัล

การประชุม APEC SFOM ถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงรับทราบแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และแนวทางในการพัฒนาการดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อการไปสู่เป้าหมายด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การประชุม APEC SFOM จะดำเนินต่อไปในวันที่ 23 มิถุนายน 2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ