นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าโครงการ "หนึ่งรหัส หนึ่งผู้ประกอบการ (SME One ID)" ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงาน และให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยผู้ประกอบการสามารถใช้หมายเลข ID เดียวในการเข้าถึงบริการของภาครัฐทุกหน่วยงาน มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และลดความยุ่งยากในการจัดเตรียมเอกสารซึ่งเป็นต้นทุนและอุปสรรคในการขอรับอนุญาตและการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย
ทั้งนี้ สสว.ได้พัฒนาระบบทะเบียนและการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ประกอบการทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงได้มีการประสานกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่มีภารกิจให้บริการแก่ผู้ประกอบการ MSME ในการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการจากระบบฐานข้อมูล SME One ID ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับบริการกับหน่วยงานรัฐโดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ และที่สำคัญสะดวก รวดเร็วเข้าถึงบริการและโครงการที่ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนได้รวดเร็วไม่ต้องรอการยืนยันเอกสารในรูปแบบเดิม
สำหรับในปีนี้ สสว. ได้ดำเนินโครงการงานพัฒนาระบบเพื่อขอรับบริการภาครัฐ ปี 65 ซึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างฐานข้อมูลและช่องทางการขึ้นทะเบียน SME One ID สำหรับผู้ประกอบการ MSME ซึ่งจะใช้ช่องทางหลักคือระบบศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร หรือ Biz Portal ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมข้อมูลและงานบริการต่างๆ เพื่อภาคธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย DGA ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยได้บูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ไว้ด้วยกัน ภายใต้เว็บไซต์ www.bizportal.go.th และปรับใช้ระบบ Digital ID ของ DGA เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่มีมาตรฐานความปลอดภัยระดับสากลสำหรับเข้าใช้บริการของส่วนราชการ รวมถึงการประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐเพื่อการใช้ SME One ID ของผู้ประกอบการ MSME ที่เข้ารับการบริการกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ
ปัจจุบัน สสว. ได้ประสานกับองค์การอาหารและยา (อย.) กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ สำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่เข้ารับการบริการที่สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว
ขณะที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบเพื่อขยายผลและอำนวยความสะดวกในการใช้งานเพื่อผู้ประกอบการ และเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานหลักที่ให้บริการ MSME อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง สสว. ตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ประกอบการ MSME ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนระบบ SME One ID (ทำการพิสูจน์และยืนยันตัวตน) ไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย ภายในสิ้นปี 65
"โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ MSME ได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ ลดการกรอกข้อมูลหรือการเตรียมเอกสารต่างๆ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้เลขรหัส 13 หลัก หรือ QR Code จากโทรศัพท์หรือบัตรในการเข้ารับบริการ หรือเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น ส่วนหน่วยงานรัฐจะได้ข้อมูล MSME ที่ถูกต้องและสามารถให้บริการได้รวดเร็วขึ้น เป็นการลดกระดาษและสำเนาเอกสาร รวมถึงสามารถส่งต่อการให้บริการระหว่างหน่วยงานได้ ขณะที่ผู้บริหารประเทศจะได้เห็นฐานข้อมูล Big Data ของ SME ที่ทันสมัยและใช้งานร่วมกันในหน่วยงานรัฐได้" นายวีระพงศ์ ระบุ
อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ MSME มาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ประโยชน์จาก SME One ID ตามเป้าหมาย สสว. ได้มีแคมเปญร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ โดย สสว. ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ 8 หน่วยงานเพื่อให้การสนับสนุนแก่ MSME ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ และขอรับบริการจาก สสว. ใน 3 ด้านได้แก่ ด้านการเพิ่มผลิตภาพ /ลดต้นทุน ด้านการขยายช่องทางการตลาด และการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน โดย 8 หน่วยงานที่ได้ลงนามแล้ว ประกอบด้วย บมจ. ซีพีออลล์ (CPALL) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (TESCO) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) Bank of China (Thai) Public Company Limited บริษัท เทลสกอร์ จำกัด TikTok มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY)
ขณะที่ในปีงบประมาณ 65 ได้มีความร่วมมือเพิ่มเติมอีก 8 หน่วยงาน ได้แก่ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) บมจ.อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัท เจนโทเซีย จำกัด บริษัท เฟเวอรี่ จำกัด บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) บริษัท อินโนเทค ลาบอราทอรี่ เซอร์วิส และธนาคารออมสิน
"ภาพรวมความร่วมมือกับ 16 หน่วยงาน ณ เดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้ประกอบการ MSME ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานพันธมิตรข้างต้นแล้ว รวม 2,045 ราย ซึ่งล่าสุด สสว. ยังได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ MSME ในด้านการขยายช่องทางการตลาดร่วมกับ Shopee โดยจัดทำ Microsite เพื่อให้ผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น"
นายวีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือน ก.ย. นี้ จะมีการพัฒนาเป็นซุปเปอร์แอปฯ สำหรับ SME ซึ่งจะสามารถทำการขอขึ้นทะเบียนต่างๆ การขอรับการฝึกอบรม การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยมีพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน เช่นตลาดหลักทรัพย์ หรือ มหาวิทยาลัยราชฏัฏ เครือซีพี ปตท. เป็นต้น
สำหรับภาพรวมของ SME ในปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่น SME เป็นบวก เติบโตดีขึ้นประมาณ 35% ต่อจีดีพีรวม และ SME รายย่อยเริ่มฟื้นตัว ซึ่ง SME รายย่อยจะได้รับกระทบรุนแรง แต่เวลาฟื้นตัว SME รายย่อยจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า เห็นได้จากเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ ผู้ประกอบการร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวจะได้รับอานิสงส์ก่อน และเมื่อมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว กิจการในลักษณะ MSME จะฟื้นตัว และดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 ส่งผลให้การจับจ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน SME มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากกิจการปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก และมีลูกจ้างหรือพนักงานเปลี่ยนอาชีพ ไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ประกอบการอิสระมากขึ้น
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ในภาพใหญ่อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูปอาหารยังดีมาตลอด เพราะไม่ว่าสภาวะวิกฤตอะไรความต้องการอาหารยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะส่งผลกระทบในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบบางส่วน ซึ่งเกิดจากวิกฤตราคาน้ำมัน