นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง 10 ธุรกิจเด่น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ว่า จากข้อมูลปฐมภูมิการสำรวจของหอการค้าโพล ทั้งผลการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา, ผลสำรวจสถานภาพธุรกิจไทย และผลสำรวจปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย, ต้นทุน, กำไรสุทธิ, ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน, ความต้องการ-กระแสนิยม พบว่า ธุรกิจดาวเด่นในช่วงครึ่งปีหลัง 10 อันดับแรก คือ
อันดับ 1 ธุรกิจการแพทย์และความงาม ได้ 93.5 คะแนน เท่ากับธุรกิจ E-Commerce
อันดับ 2 ธุรกิจแพลตฟอร์ม ได้ 93.0 คะแนน เท่ากับธุรกิจโลจิสติกส์ เดลิเวอร์รี่ และคลังสินค้า
อันดับ 3 Cloud Storage ได้ 91.0 คะแนน เท่ากับธุรกิจประกัน และธุรกิจอาหารเสริม
อันดับ 4 E-Sports ได้ 90.1 คะแนน เท่ากับธุรกิจ Social Media และ Online Entertainment
อันดับ 5 ธุรกิจรีวิวสินค้า ได้ 89.0 คะแนน เท่ากับธุรกิจ Media และสื่อโฆษณา
อันดับ 6 ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ขายส่งเภสัชภัณฑ์ ได้ 88.5 คะแนน เท่ากับ Fintech, จัดอีเวนท์, คอนเสิร์ต, งานแสดงสินค้า
อันดับ 7 ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ได้ 87.3 คะแนน เท่ากับธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน
อันดับ 8 Modern Trade ได้ 86.2 คะแนน เท่ากับธุรกิจสมุนไพรไทย เช่น กัญชง กัญชา ใบกระท่อม
อันดับ 9 ธุรกิจสถานบันเทิง ได้ 85.7 คะแนน เท่ากับธุรกิจยานยนต์
อันดับ 10 ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์แนวราบ ได้ 84.8 คะแนน เท่ากับธุรกิจโรงแรม ทัวร์
นายวชิร กล่าวว่า เหตุที่ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม ได้เป็นธุรกิจดาวเด่นอันดับ 1 เนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากกระแสการให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ การกินอาหารเพื่อสุขภาพ และการออกกำลังกาย การเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ จึงทำให้มีความต้องการในธุรกิจนี้มากขึ้น นอกจากนี้ นโยบายการเปิดประเทศก็คาดว่าจะทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จะเริ่มทยอยกลับเข้ามาใช้บริการได้ในปีนี้
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีผู้ประกอบการในธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น ความกังวต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ และรายได้ที่ลดลง จึงอาจทำให้กำลังซื้อลดลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการปลอมแปลงทางเวชภัณฑ์ และการหลอกลวงผู้ใช้บริการ จนเป็นเหตุให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ รวมทั้งจำนวนผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีไม่เพียงพอ เป็นต้น
ส่วนธุรกิจ E-Commerce ที่ได้คะแนนในอันดับ 1 เท่ากันนั้น ได้ปัจจัยหนุจากในช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมลดการออกไปใช้จ่ายนอกบ้าน และหันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ช่องทางการจำหน่ายที่มีต้นทุนต่ำ สินค้ามีความหลากหลาย และสามารถซื้อขายได้ตลอด 24 ชม. ประกอบกับมีช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย สะดวก รวดเร็ว
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายเก็บภาษีธุรกิจค้าขายออนไลน์ ปัญหาเงินเฟ้อสูง ที่ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ปัญหาการหลอกขายสินค้าไม่ได้คุณภาพ และการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจ ทำให้กำไรค่อนข้างต่ำ
- ธุรกิจดาวร่วงในช่วงครึ่งปีหลัง 10 อันดับ ได้แก่
อันดับ 1 ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและเครื่องโทรสาร (แฟ็กซ์) ได้ 8.3 คะแนน
อันดับ 2 ธุรกิจฟอกย้อม ได้ 9.6 คะแนน
อันดับ 3 ธุรกิจหัตถกรรมที่ไม่มีการออกแบบ ได้ 10.3 คะแนน
อันดับ 4 ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร ได้ 11.3 คะแนน
อันดับ 5 ธุรกิจรับ-ส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและที่ทำงาน ได้ 11.6 คะแนน
อันดับ 6 ธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์ ได้ 12.1 คะแนน
อันดับ 7 ธุรกิจคนกลาง ได้ 12.6 คะแนน เท่ากับธุรกิจผลิต/จำหน่ายดอกไม้-ต้นไม้ประดิษฐ์
อันดับ 8 ธุรกิจ Call Center ได้ 13.6 คะแนน เท่ากับธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา เซรามิก
อันดับ 9 ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าโหล ได้ 14.5 คะแนน
อันดับ 10 ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ-ขายหนังสือ ได้ 18.6 คะแนน เท่ากับธุรกิจร้านถ่ายรูป
นายวชิร กล่าวด้วยว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ เช่น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด ที่ยกเลิกระบบ Test&Go และมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ, ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพ, เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า, ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการส่งออกสินค้าไทยมากขึ้น รวมถึงการปลดล็อกกัญชง กัญชา ที่มีส่วนช่วยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและผู้ประกอบการไทยหน้าใหม่
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยที่บั่นทอนการดำเนินธุรกิจ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงขึ้น กระทบกับค่าขนส่ง และต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น มีผลให้กำลังซื้อลดลง นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ, จีนยังไม่ผ่อนคลายมาตรการเดินทางออกนอกประเทศ, ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนยังเปราะบาง, การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กระแสที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจดาวเด่นที่สำคัญ มาจากกระแสการเปิดประเทศเป็นสำคัญ รองลงมา คือ กระแสของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลต่อธุรกิจดิจิทัล และ Social Network ซึ่งทำให้เกิดกระแสของการ Live สร้างการเข้าถึงกลุ่ม Gen Y และ Gen Z
นอกจากนี้ ยังมีกระแสการจำหน่ายสลากดิจิทัล ทำให้ประชาชนเข้าถึงดิจิทัลมากขึ้น เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ซึ่งเป็นตัวเร่งกระแส Digital Economy ได้เร็วขึ้น และสุดท้าย คือกระแสจากที่กลุ่ม Gen Y และ Gen Z จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น
นายธนวรรธน์ คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวได้เด่นขึ้นในช่วงกลางไตรมาส 2 ของปีนี้ และจะฟื้นตัวขึ้นอย่างเด่นชัดในช่วงไตรมาส 4 แม้จะยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันในระดับสูงก็ตาม เนื่องจากภาคธุรกิจมองว่ายอดขายเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีสัญญาณจากยอดซื้อรถบรรทุกมากขึ้น ซึ่งชี้ว่าเริ่มมีการกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ เริ่มมีการซื้อสินค้าคงทนมากขึ้น เช่น รถยนต์ และที่อยู่อาศัยแนวราบ (บ้าน ทาวน์เฮ้าส์) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการขยายโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าจากในเมืองออกไปสู่ปริมณฑลในหลายเส้นทาง
นอกจากนี้ จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด การเปิดประเทศ ซึ่งช่วยขับเคลื่อนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีในช่วงครึ่งปีหลัง ท้งธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สถานบันเทิง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 3-5 แสนคน/เดือน ส่วนไตรมาส 4 อยู่ที่ 8 แสน - 1 ล้าน/เดือน ต่างจากในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีเพียง 1-3 แสนคน/เดือนเท่านั้น
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงธุรกิจสมุนไพรไทยด้วยว่า มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังจากเกิดการระบาดโควิด ที่ทำให้เกิดกระแสการดูแลสุขภาพด้วยการใช้สมุนไพรไทยต่างๆ ในการป้องกันรักษาแบบทางเลือก ขณะที่กระแสจากกัญชง กัญชา ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มก็จะเข้ามาช่วยเสริมในเรื่องของธุรกิจสมุนไพรด้วย
"ธุรกิจเด่น เช่น กลุ่มดิจิทัล การแพทย์ ท่องเที่ยว จะเป็นกลุ่มที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ให้ขยายตัวได้ในกรอบ 3.8-4% และมีเม็ดเงินสะพัดเข้ามาส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ จะมีคนทั่วไปเข้ามาในโลกของดิจิทัลมากขึ้น เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง จะทำให้คนเริ่มเดินทางน้อยลง หันมาหาความสุขในบ้านมากขึ้น เราจึงให้น้ำหนักไปที่ E-Commerce บริการเดลิเวอร์รี่ที่ยังโดดเด่น ตลอดจนความบันเทิงในบ้านผ่าน Social Network เช่น การดูยูทูป, การรีวิวสินค้าโดยอินฟลูเอนเซอร์, E-Sports เหล่านี้จะเป็นธุรกิจที่เริ่มโดดเด่นมากขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว