นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ค.65 ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปอยู่ที่ 76,937 คัน หดตัว 3.20% จากเดือน พ.ค.64 และลดลง 48.78% จากเดือน เม.ย.65 เนื่องจากยังคงประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนบางอย่าง แม้กระบวนการผลิตจะกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว
"การผลิตกลับคืนสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังประสบปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนบางตัว" นายสุรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.65) มีส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปรวม 375,757 คัน ลดลง 3.77% จากช่วงเดียวกันของปี 64 แต่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 223,872.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือน พ.ค.65 มีจำนวน 129,231 คัน ลดลง 7.80% จากเดือน พ.ค.64 ทั้งจากการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะ รวมทั้งผลิตรถยนต์นั่งขายในประเทศ แต่เพิ่มขึ้น 9.72% จากเดือน เม.ย.65 ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนรถยนต์ที่ผลิตทั้งสิ้น 727,095 คัน เพิ่มขึ้น 2.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน พ.ค.65 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,735 คัน เพิ่มขึ้น 2.06% จากเดือน เม.ย.65 และเพิ่มขึ้น 15.71% จากเดือน พ.ค.64 จากการผ่อนคลายการล็อกดาวน์มากขึ้นของรัฐบาล ทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผ่อนคลายความเข้มงวดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน การประกันรายได้เกษตรกร การส่งออกยังคงเติบโตดี ทำให้ประชาชนหลายภาคส่วนมีรายได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่สูงขึ้นมากจนอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงจะทำให้อำนาจซื้อของประชาชนลดลง
โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ฯ กล่าวว่า ตอนนี้ยังยืนยันเป้าเดิมไว้ก่อน ขอประเมินสถานการณ์อีกสัก 1 เดือนจึงจะสามารถบอกได้ว่าจะมีการปรับเป้ายอดผลิต ยอดขายในประเทศ และยอดส่งออกมากน้อยเพียงใด
สำหรับปัญหาการขาดแคลนเซมิคคอนดักเตอร์ ยังคงมีต่อเนื่องนับตั้งแต่จีนมีการล็อกดาวน์ทำให้กระบวนการผลิตสะดุด วิกฤตยูเครนส่งกระทบแร่ที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ขณะที่ความต้องการมีเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการสร้างเมืองอัจฉริยะ ส่วนการลงทุนตั้งโรงงานเพิ่มเติมนั้นคาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการอย่างน้อย 3 ปีจึงจะสามารถผลิตได้
ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ และสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยในเดือน พ.ค.65 มียานยนต์ไฟฟ้า ประเภท BEV จดทะเบียนใหม่ 1,567 คัน เพิ่มขึ้น 189.65% จากเดือน พ.ค.64 และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวน 5,702 คัน เพิ่มขึ้น 156.15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ประเภท HEV จดทะเบียนใหม่ 5,362 คัน เพิ่มขึ้น 67.77% จากเดือน พ.ค.64 และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวน 27,093 คัน เพิ่มขึ้น 46.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ประเภท PHEV จดทะเบียนใหม่ 1,056 คัน เพิ่มขึ้น 50% จากเดือน พ.ค.64 และช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวน 4,862 คัน เพิ่มขึ้น 55.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน