นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ตลาดล่วงหน้าคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบแรงได้อีก และจะทำให้ ณ สิ้นปีนี้ อัตราดอกเบี้ยของเฟด จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% ได้ และมีสัญญาณจากตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นที่ส่งสัญญาณว่าโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีมากขึ้น
นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆ ต้องเจอกับภาวะอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง ก็จะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นรอบการประชุมในเดือนส.ค. และเดือน พ.ย.
"คงต้องขึ้นในเดือนส.ค.ก่อนเป็นรอบแรก และดูว่าคนไข้แพ้ยามากแค่ไหน ดูว่าการขึ้นดอกเบี้ยเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ดูอาการคนไข้ก่อน ถ้าได้ในสิ่งที่พึงประสงค์ คือเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อลดลง ก็ค่อยมาขึ้นในเดือน พ.ย.อีกรอบ" นายกอบสิทธิ์ กล่าว
น.ส.กฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการ งานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ได้มีการปรับประมาณการเงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6.2% จากเดิม 4.9% ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันหลักต่อการพิจารณานโยบายการเงินของ ธปท. โดยคาดว่ามีโอกาสที่ ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในช่วงการประชุมที่เหลือ 3 ครั้งของปีนี้
"ตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่กลับไปโตเท่ากับช่วงก่อนโควิด ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยก็จะต้องระมัดระวัง และให้น้ำหนักระหว่างเงินเฟ้อ กับการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และทยอยขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป" น.ส.กฤติกา ระบุ
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่ามีโอกาสน้อยมากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะจัดประชุมฉุกเฉินก่อนการประชุมนัดปกติในเดือน ส.ค. เนื่องจากในช่วงต้นปี กนง. ได้ประกาศลดการประชุมเหลือเพียง 6 ครั้งต่อปี ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากให้ตลาดอยู่ในโหมด wait and see บ่อยเกินไป ดังนั้นการประชุมฉุกเฉิน จะเป็นการขัดกับการประกาศในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้เห็นสัญญาณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาเติบโตดี เช่น กลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ยังมี room ให้เติบโตได้อีก และจะเป็นแรงที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโตได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน คาดว่าจะเริ่มกลับเข้ามาได้ราวปี 66 หลังจากมีการประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งน่าจะเริ่มเห็นการผ่อนคลายเรื่องนโยบายโควิด
"คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาส 2 และช่วงครึ่งปีหลัง จะมาจากการท่องเที่ยว ปีนี้คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 7-7.5 ล้านคน และมีโอกาสที่จะไปถึง 10 ล้านคนได้" น.ส.กฤติกา กล่าว
นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นแรงหนุนที่สำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจากรายได้ของภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกที่เข้ามา จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า โดยในช่วงปลายปีอาจจะอยู่ที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์
ด้านนายนรวิชญ์ เวทไว ผู้บริหารงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี เงินบาทมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง และระหว่างวันมีการเคลื่อนไหวค่อนข้างรุนแรง แต่อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทในปีนี้ ยังอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ เกาะกลุ่มกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านมา ที่เงินบาทเกือบจะอ่อนค่าสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด และมีการเปิดประเทศมากขึ้น ก็คาดว่าในปลายไตรมาส 3 หรือช่วงไตรมาส 4 เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าจากระดับปัจจุบันได้
"ตอนนี้เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกไทย อาจจะทำ Hedging (ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน) ช่วงสั้นๆ ในช่วงไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ซึ่งเป็นจังหวะที่ดี ส่วนผู้นำเข้าที่ในช่วงต้นไตรมาส 2 ทำ Hedging ไว้เยอะ แต่ออร์เดอร์ใหม่ ให้ conservative Hedging เพราะเงินบาทคงยังไม่กลับมาแข็งค่าได้ไว" นายนรวิชญ์ กล่าว