น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.5% แม้แรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐจะลดลงหลังสิ้นสุดหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้าพลังงานที่ราคาสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/65 เติบโตดีกว่าคาด และมุมมองการบริโภคภาคเอกชนดีกว่าที่เคยประเมิน รวมถึงแรงหนุนสำคัญจากรายได้นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เพิ่มขึ้น
"จากแผนการเปิดประเทศและสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลงได้หนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม และมีอานิสงส์ต่อเนื่องมายังการปรับเพิ่มประมาณการ GDP ของปีนี้ขึ้นเป็น 2.9% จากเดิมที่เคยประมาณการไว้เมื่อ 3 เดือนก่อนที่ 2.5%" น.ส.ณัฐพร กล่าว
ศูนย์วิจัยฯ เชื่อว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหญ่สุดสำหรับปีนี้ โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีเป็น 7.2 ล้านคน จากเดิม 4 ล้านคน รับผลดีจากการผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ทั้งยกเลิก Test&Go และ Thailand Pass หลังจากสถานการณ์โควิดหลายประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท กลับมาถึง 37% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด
ส่วนประมาณตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ นั้น ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า ทั้งปี 65 การส่งออกจะขยายตัว 7.8% นำเข้าขยายตัว 14.5% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 2.9% การบริโภคภาครัฐ หดตัว -1% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 3% และการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 2.7%
ส่วนเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่ามาที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ตามปัจจัยเศรษฐกิจและดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ยังหนุนให้เงินดอลลาร์เข็งค่า และคาดว่าจะมีเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทยบางส่วน อย่างไรก็ดี ไทยยังไม่ต้องห่วงผลกระทบต่อความมั่นคงของทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากยังอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเทียบเท่ากับการนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ได้กว่า 1.2 เท่า
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาท คาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระดับจำกัด เนื่องจากการส่งออกของไทยมีความสัมพันธ์กับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยน
น.ส.ณัฐพร กล่าวถึงมุมมองด้านเงินเฟ้อว่า ศูนย์วิจัยฯ ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ขึ้นเป็น 6% จากเดิมคาดไว้ 4.5% เนื่องจากผลของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบสูงขึ้นเกิน 110 ดอลลาร์/บาร์เรล ประกอบกับภาครัฐทยอยลดมาตรการอุดหนุนด้านพลังงาน ทั้งดีเซล, ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลทำให้เงินเฟ้อขึ้นไปพีคสุดได้ในช่วงไตรมาส 3/65 ก่อนจะค่อยๆ ทยอยปรับลดลง
"ครึ่งปีหลัง วิกฤติอาหารโลกจะส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารในตะกร้าเงินเฟ้อของไทยปรับเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นพีคสุดในไตรมาส 3 จากนั้นจะค่อยทยอยผ่อนลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 4 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของปีก่อน" น.ส.ณัฐพร ระบุ
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3/65 จะอยู่ที่ 7.4% ส่วนไตรมาส 4/65 ที่ 5.8% ส่งผลให้ทั้งปีเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 6%
น.ส.ณัฐพร ระบุว่า จากที่คาดว่าเงินเฟ้อจะขึ้นไปสูงสุดในไตรมาส 3/65 จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องปรับพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ ณ สิ้นปีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปแตะ 1% หลังจากตรึงไว้ที่ 0.50% มานาน
ท่ามกลางภาวะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง และ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามนั้น คาดว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยคงจะยังไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของฝั่งเงินฝากและเงินกู้ตามในทันที แต่จะเริ่มปรับขึ้นจากบางผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูง และยังมีโจทย์ในการช่วยเหลือลูกค้าให้ก้าวข้ามช่วงของการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากทั้งการระบาดของโควิด รวมทั้งผลกระทบจากราคาพลังงาน ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ
ด้านน.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารว่า ขณะนี้ไทยมีความเสี่ยงต่อภาวะความตึงตัวของผลผลิตอาหาร แต่ยังไม่ใช่วิกฤติด้านอาหารเหมือนกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจากเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารไทยเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณผลผลิต ขณะที่ความต้องการและราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้นหนุนการส่งออกในบางรายการ
พร้อมมองว่า ราคาอาหารของไทยขะเร่งตัวสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี จากวิกฤติที่ซ้อนวิกฤติ ดังนี้ 1.การระบาดของโควิดหลายระลอกที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต 2.Pent-up Demand หลังจากการระบาดโควิดทยอยคลี่คลาย 3.ภัยธรรมชาติในหลายประเทศผู้ผลิตอาหาร เช่น น้ำท่วมใหญ่ในบราซิล 4.สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย 5.มาตรการจำกัดการส่งออกอาหารและปุ๋ยจากหลายประเทศทั่วโลก 5.การอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งมีผลต่อราคานำเข้าวัตถุดิบ
ดังนั้น มองว่าราคาสินค้าอาหารของไทยอาจปรับขึ้นในครึ่งปีหลัง และมีแนวโน้มยืนสูงต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 66 โดยเฉพาะ น้ำมันปาล์ม, ข้าว และเนื้อหมู ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบยังมีโจทย์ในด้านการบริหารจัดการต้นทุน เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลฐานะรายรับรายจ่ายและใช้สอยอย่างรอบคอบต่อเนื่อง