(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวเหมืองโปแตซในจ.อุดรฯ ส่งต่อก.อุตฯพิจารณาออกประทานบัตร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 28, 2022 15:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเดินหน้าเหมืองแร่โปแตซ ใน จ.อุดรธานี หลังจาก บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิสำรวจแร่โปแตซใน จ.อุดรธานี ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ครบถ้วน โดยเฉพาะการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งขั้นตอนต่อไปนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะไปพิจารณาการออกประทานบัตรต่อไป

สำหรับรายละเอียดการดำเนินงานของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ผ่านมา ประกอบด้วย

1.รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น 1)การควบคุมวิธีการทำเหมืองให้มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้เกิดการทรุดตัวที่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างที่อยู่อาศัยบนผิวดิน 2)มาตรการการจัดการกองเกลือ ฝุ่นเกลือ และน้ำเค็มของโครงการ

2.การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ทางตัวแทนกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ร้อยละ 63 เลือกที่จะให้มีการพัฒนาโครงการทำเหมืองบางพื้นที่อย่างมีเงื่อนไข กล่าวคือ มีมาตรการเพื่อลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่มาใช้พัฒนาชุมชนอย่างเหมาะสม และผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม

3.การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 54 โดยล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย.59 จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 2,000 คน มีผู้ไม่เห็นด้วยประมาณ 100 คน แต่ไม่ได้เป็นการลงมติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณาดำเนินโครงการ และในปี 2562 คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนได้พิจารณากำหนดกรอบวงเงินค่าทดแทนกรณีมีการทำเหมืองใต้ดินให้แก่เจ้าของที่ดิน วงเงินรวม 1,200 ล้านบาท ซึ่งบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ เป็นผู้รับผิดชอบ

น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า พื้นที่เหมืองแร่โปแตซ ของบริษัท เอเชีย แปซิฟิคฯ ที่ได้สำรวจแล้ว มีจำนวน 4 แปลง อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี มีพื้นที่เหมืองใต้ดินประมาณ 26,446 ไร่ และพื้นที่บนดินประมาณ 1,681 ไร่ หากเหมืองแร่โปแตซเปิดดำเนินการได้ คาดการณ์ว่าจะสามารถสกัดโปแตซเซียมคลอไรด์ได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โปแตซเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ โดยปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โปแตซประมาณปีละ 800,000 ตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บมจ. เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จ.ชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ