นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 98.05 หดตัว 2.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ขยายตัวจากเดือนก่อน (MoM) 7.46% ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.57%
"ทั้งนี้ MPI เดือนพ.ค. ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 7.46% เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยว ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการอ่อนค่าของเงินบาท ช่วยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัว โดยสะท้อนได้จากอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่เย็น ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 19.97%" นางศิริเพ็ญ กล่าว
ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนพ.ค. อยู่ที่ 62.42% เพิ่มขึ้นจาก 58.54% ในเดือน เม.ย. 65 ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 64.11%
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิต เดือนพ.ค. 65 เนื่องจากการล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน ทำให้เกิดปัญหา Supply shortage โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์และสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ โดยจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในเดือนหน้า หลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญ
"ภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ จากการล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน ทั้งนี้ สศอ. คาดการณ์ว่า การขาดแคลนวัตถุดิบเป็นผลกระทบระยะสั้น ภาคการผลิตขยายตัวอีกครั้ง หลังประเทศจีนเริ่มคลายล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา" นางศิริเพ็ญ กล่าว
ในขณะที่การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว
ทั้งนี้ สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคการส่งออก ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยในเดือน พ.ค. 65 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.63% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 65
ด้านสถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครน มีผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ขณะเดียวกันภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อ เริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เดือนพ.ค. 65 ขยายตัวที่ 11.8% เร่งตัวขึ้นจากเดือนเม.ย. ขยายตัวที่ 11.4%
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนพ.ค. 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 13.06% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นหลัก หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทั้งทางบกและทางอากาศ โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งการเดินทางในประเทศและต่างประเทศ
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 7.29% จากผลิตภัณฑ์ Integrated Circuit และ PWB เป็นหลัก เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังขยายตัวต่อเนื่อง
- เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัว 25.73% จากผลิตภัณฑ์ยาเม็ดและยาน้ำเป็นหลัก เนื่องจากผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราวในปีก่อน และในปีนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้น
- ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัว 9.24% จากผลิตภัณฑ์ยางแท่งเป็นหลัก เนื่องจากมีความต้องการสูงในตลาดโลก ประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ยุโรป อเมริกา และสิงคโปร์ มีความต้องการสินค้าอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการขนส่งเริ่มคลี่คลาย
- เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัว 12.93% จากผลิตภัณฑ์จี้ สร้อย และกำไล เป็นหลัก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในหลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น ส่งผลให้ในตลาดส่งออกสำคัญกลับมามีคำสั่งซื้อสินค้าอีกครั้ง
"การผลิตเดือน มิ.ย. 65 คาดว่ายังทรงตัวจากเดือนพ.ค. โดยมองว่ายังไม่บวก แต่ไม่ลดลงไปมากกว่านี้ เนื่องจากยังคงมีการขาดแคลนวัตถุดิบรถยนต์ในบางรุ่น ขณะเดียวกัน ในประเทศเริ่มมีการเคลื่อนไหว เดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น" นางศิริเพ็ญ กล่าว
สำหรับประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือน มิ.ย. 65 คือ สถานการณ์โควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น รวมถึงนโยบายเปิดประเทศ จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน
ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้ แม้จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การส่งออกสินค้าไทยเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่อีกด้านส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องใช้เงินบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีตลาดหลักในประเทศและมีการนำเข้าวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูง
ขณะที่สงครามรัสเซียและยูเครน ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาวัตถุดิบต่างๆ เป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ตันทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตาม กระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs นอกจากนี้ ยังกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ และจะเป็นตัวฉุดรั้งแรงขับเคลื่อนที่มาจากภาคการส่งออกของไทยด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ มาตรการป้องกันการขาดแคลนอาหารของหลายประเทศ และภาวะโลกร้อน ที่ทำให้แหล่งผลิตอาหารหลายพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งทั้งสองปัจจัยจะส่งผลให้วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น
นางศิริเพ็ญ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย ในเดือน ก.ค.-ส.ค. 65 คาดการณ์ว่ายังส่งสัญญาณปกติต่อเนื่อง สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า คือ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น จากนโยบายเปิดประเทศ การปลดล็อคมาตรการควบคุม และความเชื่อมั่นทางธุรกิจของไทย ขยายตัวลดลงทุกองค์ประกอบของดัชนีฯ โดยด้านต้นทุนปรับลดลงมากสุด
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ คือ ตัวแปรชี้นำเศรษฐกิจต่างประเทศ ขยายตัวลดลง ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของยูโรโซน ดัชนีชี้นำฯ สหรัฐ และดัชนี PMI ของญี่ปุ่น ขณะที่สหรัฐฯ ยังมีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนจีนกังวลต่อมาตรการ Zero COVID ระยะต่อไป
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ควรเฝ้าระวัง คือ เงินบาทอ่อนตัว ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและพลังงาน ผู้ประกอบการมีปัญหาขาดสภาพคล่องจากต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่เพิ่มขึ้น, ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และขยายเพดานตรึงราคาน้ำมันดีเซล และปัญหา Supply Shortage และการล็อกดาวน์เมืองท่าสำคัญของจีน ทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าวัตถุดิบ
"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว ความเชื่อมั่นทางภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น จากการเปิดรับนักท่องเที่ยว และปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ด้านปัจจัยต่างประเทศยังคงส่งสัญญาณปกติ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังเติบโตได้ แต่ต้องจับตาดูเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ยังคงเพิ่มสูง และสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ" นางศิริเพ็ญ กล่าว