ผู้ว่าฯกทม.แจง กมธ.คมนาคม รับหนักใจสายสีเขียว เล็งโยกสายสีเทา-สีเงินคืนรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2022 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เข้าชี้แจงแนวนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน โดยยอมรับว่าปัญหาที่หนักใจที่สุดคือการหาทางออกปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว

เนื่องจากสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดในปี 72 แต่บังเอิญมีการต่อสัญญาจ้างเดินรถล่วงหน้าออกไปอีกถึงปี 85 เมื่อมีสัญญาผูกพันกับเอกชนแล้วต้องไปดูเงื่อนไขว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เพราะจะทำเกินความจำเป็นไม่ได้ รวมทั้งมีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไปแล้วโอนมาให้ กทม.รวมกับหนี้ที่ว่าจ้างเดินรถ ประมาณ 100,000 ล้านบาทที่ยังค้างชำระ ต้องมาพิจารณาอีกทีว่าจะแบ่งจ่ายอย่างไร นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วก็คงต้องดูแลต่อไป

ส่วนข้อเสนอการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเพดานไม่เกิน 59 บาท นายชัชชาติ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนขยายที่ 2 ที่ไม่เคยจัดเก็บค่าโดยสารเท่านั้น สำหรับข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ให้เก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 44 บาท มองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ในส่วนสัมปทานเดิมเก็บ 44 บาทก็ขาดทุนแล้ว นอกจากนี้แนวคิดตั๋วร่วมไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาค่ารถไฟฟ้าได้ เพราะเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างราคา

นายชัชชาติ ระบุว่า ในสัปดาห์หน้าน่าจะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยตนจะหารือกับนายธงทอง จันทรางศุ ประธาน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในวันที่ 2 ก.ค.นี้

นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวคิดว่าการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ควรจะต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพราะ กทม.ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญ หาก กทม.เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเพิ่ม จะกลายเป็นว่าแยกจากระบบขนส่งรวมจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) อาจเกิดปัญหาหากต้องรวมตั๋วเป็นราคาเดียวกัน หรือใช้ตั๋วร่วมเหมือนอย่างฮ่องกง หรืออังกฤษ

ดังนั้น รถไฟฟ้า 2 สายที่ กทม.จะต้องดูแล คือ รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และช่วงพระโขนง-พระราม 3 เลียบทางด่วนรวมอินทราอาจณรงค์-พระราม 3 และสายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ จะเจรจาว่าสามารถให้รัฐบาลดูแลเพียงผู้เดียวได้หรือไม่

นายชัชชาติ กล่าวว่า การทำงานของ กทม.ต้องประสานกับหลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลด้วย เพราะหลายอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจ รวมทั้งกฎหมายต่างๆ บางครั้งอาจจะต้องมีการปรับแก้เพื่อให้กฎหมายที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์คนกทม.ได้ จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่กมธ.เชิญมาเพราะสุดท้ายแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ และการตั้งอนุกรรมาธิการฯ เพื่อที่จะได้เห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้เลย

อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านคมนาคม เป็นนโยบาย 1 ใน 9 ด้านของ กทม.เกี่ยวกับการสัญจร ซึ่ง กทม.เตรียมจะทำระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับตำรวจ จะมีกล้องควบคุมสภาพการจราจรเชื่อมโยงไปถึงการจ่ายใบสั่งหรือค่าปรับ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงสภาพถนนจะดึงเทศกิจมาช่วยการจราจรใน กทม. ในอนาคตอาจมีแนวคิดโอนตำรวจจราจรมาขึ้นตรงกับกทม. แต่ยังมีภารกิจที่ยังเกี่ยวพันกันอยู่ ต้องดูว่าจะพร้อมแค่ไหนหากโอนมาแล้ว เพราะ กทม.ได้มีการโอนย้ายเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาแล้ว

ในส่วนระบบขนส่งมวลชน กทม.มีแนวคิดเดินรถเมล์เองในบางจุดเสริม ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยกทม.จะขอใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อเดินรถเสริมในบางเส้นทางร่วมกับขสมก. ขณะเดียวกันจะเตรียมเพิ่มจำนวนรถเมล์สำหรับผู้พิการด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ