น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนพ.ค. ขาดดุล 3,716 ล้านดอลลาร์ โดยยังขาดดุลติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ต่อจากเม.ย. ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3,057 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว เป็นผลจากอยู่ในช่วงฤดูกาลส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย
อย่างไรก็ดี คาดว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะเริ่มลดลงในช่วงไตรมาส 3 และ 4 เนื่องจากจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มกลับเข้ามา และทั้งปีคงจะขาดดุลไม่สูงไปกว่าระดับที่ ธปท.เคยประเมินไว้ที่ 8 พันล้านดอลลาร์
ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศหลังโควิดคลี่คลาย ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าในไทยเดือนพ.ค. อยู่ที่ 5.2 แสนคน ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค. - พ.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้ว 1.3 ล้านคน ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ดัชนีผลผลิตภาคบริการปรับตัวดีขึ้นด้วย
ส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 65 อยู่ที่ 25,598 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่รวมการทองคำ มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 13.4% ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนพ.ค.ขยายตัวได้ดีในทุกหมวดสินค้า ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้า อยู่ที่ 23,612 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ในเดือน พ.ค.65 ไทยเกินดุลการค้า 1,985 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งหลักๆ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนพ.ค.ยังมาจากปัจจัยสินค้าหมวดอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากที่ภาครัฐลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นไปสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 7.5% และมีโอกาสที่บางเดือนในไตรมาส 3 เงินเฟ้อจะขึ้นไปสูงถึง 8% ได้
สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในเดือนพ.ค. เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง จากผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่อย่างไรก็ดี เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยการอ่อนค่ายังอยู่ในระดับกลางๆ
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในเดือนมิ.ย. ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งมีปัจจัยสำคัญจากดอลลาร์สหรัฐยังมีทิศทางแข็งค่า หลังจากนักลงทุนกังวลการเร่งตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของขึ้นเฟด ซึ่งทำให้ตลาดกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวในระยะข้างหน้า จึงทำให้มีการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ของตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เงินบาทจะอ่อนค่าไปแตะระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ได้หรือไม่นั้น ยังประเมินได้ยาก ซึ่งที่ผ่านมาจากสถานการณ์โลกที่แนวโน้มยังมีความเสี่ยงอยู่มาก จึงทำให้สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์สหรัฐเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น รวมถึงผลจากนโยบายการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดด้วย
"คนมาถือดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างเยอะ จึงทำให้ดอลลาร์แข็งค่า และกดดันให้บาทอ่อน...ในครึ่งปีหลัง หากเศรษฐกิจยังเติบโตได้ต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวกลับเข้ามา คงไม่เห็นความผันผวนของเงินบาทในด้านอ่อนค่ามากเหมือนกับที่ผ่านมา" น.ส.ชญาวดีระบุ
ส่วนความกังวลเรื่องเงินทุนไหลออกนั้น ทาง ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดทั้งในส่วนของตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร และเชื่อว่าทั้งปียอดสุทธิจะยังเป็นเงินทุนไหลเข้า โดยสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังไม่เห็นการเคลื่อนไหวที่ผันผวนเกินไป
น.ส.ชญาวดี ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย.ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ยังต้องติดตามสถานการณ์การปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนและราคาสินค้า ปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการ