สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว ในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ระดับ 53 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ และโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เตรียมพร้อมเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น
อย่างไรก็ดี ดัชนีในไตรมาสนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากเมื่อเทียบกับปี 62 เนื่องจากในไตรมาสนี้ มีสถานประกอบการเปิดบริการน้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เหลือเพียง 86% เนื่องจากราคาวัตถุดิบและค่าครองชีพที่สูงขึ้นมาก ประกอบกับหมดระยะของโครงการคนละครึ่งเฟส 4 (30 เม.ย. 65) ส่งผลให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายอีกครั้ง
นอกจากนี้ ในไตรมาสนี้จำนวนการจ้างงานของผู้ประกอบการที่เปิดกิจการขยับขึ้นมาอยู่ที่ 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยธุรกิจโรงแรม 20% คาดว่ามีความต้องการแรงงานเพิ่มในไตรมาส 4/65 และมีการเปิดบริการ 92% โดย 80% ของโรงแรมทั้งหมดมีรายได้เข้ามาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของสภาวะปกติ โดยมีอัตราการเข้าพักในภาพรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 34%
สำหรับไตรมาสหน้า ผู้ประกอบการคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้ โดยค่าดัชนีคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 3/65 อยู่ที่ระดับ 62 โดยมองว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดยมีปัจจัยบวกจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ที่ขยายสิทธิ์เพิ่มอีก 1.5 ล้านสิทธิ์ และต่อเวลาไปถึงสิ้นเดือนต.ค.
ขณะเดียวกัน จากการสำรวจพบว่า ในไตรมาสหน้าประชาชนชาวไทยวางแผนเดินทางไปต่างจังหวัดมากถึง 63% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในรอบ 2 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 และคาดการณ์ว่าสถานการณ์การเดินทางข้ามประเทศจะฟื้นตัว 40% จากปี 62 ที่มีจำนวน 1,461 ล้านคน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หวังว่า ภาครัฐจะมีนโยบายการเดินทางเข้าประเทศ ที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยให้สะดวก และรวดเร็วกว่าช่วงที่ไม่เกิดวิกฤติโควิด
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสทท. กล่าวว่า ขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างสมดุล สอดรับกับสถานการณ์ในแต่ละเดือน ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในครึ่งปีแรกได้มีถึง 2 ล้านคน แบ่งเป็นในไตรมาส 1/65 จำนวน 5 แสนคน และในไตรมาส 2/65 อีก 1.5 ล้านคน โดยต่อจากนี้ สทท. จะทำการรับไม้ต่อจากรัฐบาล ผลักดันนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ถึง 12 ล้านคนภายในสิ้นปี ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ เพื่อรักษาการจ้างงาน และขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน
อย่างไรก็ดี โจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกำลังต่อสู้กับ 3 สงคราม สงครามแรก คือ สงครามโควิด-19 ที่เรากำลังจะก้าวสู่ชัยชนะ สงครามที่ 2 คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่แม้เราจะไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น ทำให้ราคาน้ำมัน ทั้งน้ำมันดีเซล เบนซิน ไปจนถึงน้ำมันพืชแพงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น
ส่วนสงครามที่ 3 คือ สงครามช่วงชิงนักท่องเที่ยว เรียกได้ว่าเป็น Tourism War Game ที่หลายประเทศเห็นตรงกันว่าการท่องเที่ยวนั้นคือกลไกในการฟื้นประเทศที่ดีที่สุด รวดเร็ว ใช้ทุนน้อย และกระจายรายได้สู่ประชาชนได้มากที่สุด จึงเร่งออกกลยุทธ์ทุกรูปแบบมาแข่งกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
ดังนั้น เกมนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสทท. เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวงต้องผนึกกำลังกันออกแบบเครื่องมือพิเศษแบบ Booster Shot เช่น กระทรวงวัฒนธรรมมาช่วยเรื่อง Soft Power เติมเสน่ห์ให้กับการท่องเที่ยว กระทรวงการคลังมาช่วยเรื่อง Soft Loan ช่วยเติมทุน กระทรวงแรงงานมาช่วยสร้าง Soft Skill เติมความรู้ กระทรวงดิจิทัลมาช่วยเรื่องพัฒนา Software / Platform / Big Data เติมสมอง ส่วนกก., ททท. และ สทท. นั้นต้องจับมือกันทำ Hard sell เพื่อเติมลูกค้า และนี่คือความท้าทายใหม่ ที่ทั้งรัฐและเอกชนจะต้องจับมือกันเพื่อที่จะฟื้นไปด้วยกัน
"ถ้าทุกภาคส่วนทำงานแบบบูรณาการ ร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าตัวเลข 12 หรืออาจถึง 16 ล้านคนเป็นไปได้แน่นอน และถ้าประเทศจีนเปิด ก็จะมีนักท่องเที่ยวมากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ที่ภาคเอกชนมีการเรียกร้องมาตลอด เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีในปัจจุบันยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน มาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมายังไม่ครอบคลุมภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด มีเพียงบางส่วนที่ได้ประโยชน์ กระจายแค่ในเมืองหลักเท่านั้น ดังนั้น ในระยะสั้นจะต้องเร่งทำ Hard sell เช่น เติมทุน หนุนสายการบิน เป็นต้น" นายชำนาญ กล่าว
ด้าน นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานสทท. และนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ขณะนี้โรงแรมยังมีอัตราการเข้าพักในเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ไม่ถึงจุดคุ้มทุน การดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศจึงสำคัญมากในขณะนี้ โดยมองว่ากระแส Soft Power ในช่วงนี้ถือว่าเป็นนโยบายที่ดีที่ควรจะสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องอาหารไทย และกีฬาไทย และใช้จุดเด่นนี้ให้เป็นประโยชน์ในการทำการตลาด สร้าง Story และ Content เพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้คิดถึงและเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น
ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องเติมลูกค้า เพิ่มอัตราการเข้าพักของโรงแรม เพื่อรักษาการจ้างงาน เพราะตอนนี้ธุรกิจโรงแรมมีค่าใช้จ่ายสูงมากจากทั้งภาษี ดอกเบี้ย ค่าน้ำค่าไฟ และค่าแรงที่สูงขึ้น หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในเรื่อง Soft Loan และการผ่อนผันภาษี เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากโรงแรมจำนวนมากอาจต้องกลับไปปิดกิจการอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง Soft Skill เนื่องจากขณะนี้ภาคการท่องเที่ยว หาแรงงานสายอาชีพได้ค่อนข้างยาก ทั้งงานช่าง พ่อครัว รวมถึงงานที่คนไทยไม่ทำอย่างงานใช้แรงงาน ดังนั้น ขอให้รัฐช่วยปลดล็อกให้ชาวต่างด้าวสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้ง่ายขึ้น
ด้าน นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสทท. และที่ปรึกษาสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว กล่าวว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวในปีนี้ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ตุรกี, เวียดนาม และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปลดล็อกหรือผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศ ส่งผลในธุรกิจภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น และสามารถกระจายรายได้ให้ประชาชนได้ง่ายที่สุด
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบมากขึ้น ซึ่งภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจ โดยหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 12 ล้านคน คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักของ Inbound Tourism ตอนนี้อยู่ที่เที่ยวบินขาดแคลน ทำให้นักท่องเที่ยวที่สนใจมาประเทศไทยไม่สามารถเดินทางมาได้ รัฐจึงควรเข้ามาสนับสนุนในเรื่อง Charter Flight เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย และสร้างความมั่นใจให้กับสายการบินในการเพิ่มเที่ยวบินเข้าประเทศไทย
"จะต้องทำ Hard Sell ช่วยผู้ประกอบการเครื่องบิน และเอเย่นต์หรือนายหน้า เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เดินทางโดยเครื่องบิน เราจึงต้องสนับสนุนสายการบินให้ได้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เราต้องการ ร่วมกับเอเย่นต์ให้เหมาเครื่องบินพานักท่องเที่ยวเข้ามา" นายวิชิต กล่าว
ด้าน นพ.สมชัย เจียรนัยศิลป์ รองประธาน สทท. และประธานคณะอนุกรรมการ Wellness Tourism กล่าวว่า รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะฟื้นเศรษฐกิจได้ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีจุดประสงค์ เดินทางมาไทยเพื่อเข้ามาทำการผ่าตัดหรือรักษาโรค ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว
ดังนั้น Thailand Medical Hub เป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องผลักดันโดยเฉพาะการผลิตบุคลากรฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ส่งเสริมงานวิจัยต่างๆ เพื่อให้ไทยสามารถสร้างผลิตภัณฑ์การแพทย์แบบไทยที่มีความโดดเด่นแตกต่าง ส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ออกนโยบายส่งเสริมวีซ่าแบบระยะยาว 10 ปี (Long-Stay Visa) ให้แก่ชาวต่างชาติ เพื่อร่วมกันต่อยอดให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์คุณภาพของภูมิภาคอย่างยั่งยืนได้เร็วขึ้น
"คาดรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามารักษาตัวอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาทต่อคน ดังนั้น 1 ล้านคนก็เป็น 5 แสนล้านบาท และการเข้ามารักษาจะมีผู้ติดตามอีกคนละประมาณ 3 คน ซึ่งก็จะสร้างรายได้มากขึ้น ทั้งนี้ อยากให้มีการโปรโมท Medical Tourism ให้มากขึ้น เพราะจะสร้างรายได้ได้อีกจำนวนมาก" นพ.สมชัย กล่าว