พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการกำหนดแผนระยะสั้น หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้เตรียมการรับมือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ว่า เรื่องนี้จะนำเสนอในที่ประชุม สมช. วันที่ 4 ก.ค. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการเชิญหน่วยงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติทั้งหมด รวมทั้งรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจทั้งหมดมาหารือ
ที่ผ่านมา สมช. ได้เชิญหน่วยงานมาประชุมแล้ว 2 ครั้ง รวมทั้งเชิญภาคเอกชน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตลอดจนสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงานมาพูดคุย พร้อมรับฟังปัญหาและให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งอาจต้องมีการหาข้อมูลเพิ่มเติมในช่วงเสาร์-อาทิตย์นี้ และนำข้อมูลมาเสนอต่อที่ประชุมในวันจันทร์ที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน
พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า สิ่งที่ สมช.จะเสนอ คือการประเมินสถานการณ์ กำหนดแผนการเตรียมความพร้อมในอนาคต แต่จะมีการเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาเร่งด่วนด้วย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องพลังงานที่ไปกระทบกับเรื่องโลจิสติกส์ หรือการขนส่งเป็นหลัก รวมทั้งกระทบเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้าทุกอย่างสูงขึ้น
"เรื่องนี้แม้ สมช.จะไม่เชี่ยวชาญ แต่เราไม่ได้ทำงานคนเดียว สิ่งที่ผมทำเรื่องแรก คือได้พบกับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทุกกระทรวง เพื่อขอความเห็นและรับทราบปัญหา และเชิญหน่วยงานเหล่านั้นมาพูดคุย โดยในการประชุมวันจันทร์นี้ สมช. จะเสนอความคิดเห็นและแผนที่จะรองรับ ซึ่งอาจจะยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นแผนต่างๆ อยากให้รอฟังหลังการประชุมในวันจันทร์" พล.อ.สุพจน์ กล่าว
ส่วนแผนที่ออกมาจะครอบคลุมปัญหาด้านพลังงาน ไฟฟ้า และอื่นๆ ทั้งหมดหรือไม่นั้น เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า จะครอบคลุมทั้งหมด ทั้งพลังงาน อาหาร สินค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องพิจารณาเป็นการเร่งด่วน เพราะดูแล้วภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบเรื่องพลังงานมาเป็นอันดับแรก และส่งผลกระทบถึงราคาสินค้าทั้งหมด กระทบชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ส่วนการลดราคาสินค้า ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
สำหรับเรื่องอื่นๆ ก็จะดำเนินการในภาพรวม และกำหนดแผนเป็นห้วงเวลา โดยจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อรับทราบและเสนอแผน ซึ่ง สมช. ประเมินสถานการณ์แล้วว่าจะกระทบตามห้วงเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ข้างหน้าอย่างไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเตรียมการรองรับ
โดยคาดว่าจะมีมาตรการออกมา และสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที ซึ่งมีหลายมาตรการและขอให้รอฟัง ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ขอให้รอผ่านการประชุมของ สมช.ก่อน จากนั้นก็จะเสนอ ครม. เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกรม และกระทรวงต่างๆ ซึ่งแผนดังกล่าวต้องถูกเสนอ กลั่นกรอง ปรับแต่ง เพิ่มเติมให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่อาจจะยังไม่มีข้อยุติ และอาจมอบแนวทางเพิ่มเติมให้ไปดำเนินการ หรืออาจจะตั้งกลไกพิเศษเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจก็เป็นได้
ส่วนข้อถกเถียงเรื่องการดึงกำไรจากโรงกลั่นน้ำมัน ระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์นั้น ทาง สมช.จะเป็นผู้ชี้ขาดเองหรือไม่ว่าต้องใช้กลไกทางกฎหมาย พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ขอให้รอฟังหลังการประชุมในวันจันทร์ โดยในที่ประชุมจะมีคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาเรื่องนี้ด้วย