นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้ส่วนราชการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในงานบริการ Agenda 12 งานบริการ ซึ่งเป็นงานบริการที่สอดคล้องตามแผนปฏิรูปประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการจัดทำระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) โดยได้มีการจัดทำเว็บท่าและรวบรวมลิงก์ รวมถึงข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ นั้น
ในส่วนของสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการให้ความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย โดยขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัทประกันชีวิต จำนวน 4 บริษัท และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 10 บริษัท โดยบริษัทจะดำเนินการรับประกันภัยในรูปแบบ Pooling ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การรักษาพยาบาลจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1) และการรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด
ในการร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้นำลิงก์เว็บไซต์ https://covid19.tgia.org/ ไปใส่ไว้ในหน้าเว็บท่าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพัฒนาขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถซื้อประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ แบบ Real-Time ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสู่ระบบเว็บท่า (Web Portal) ในชื่อ "Entry Thailand" (www.entrythailand.go.th) และอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศ ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานที่เชื่อมโยงสอดรับกับแนวนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือเพื่อบูรณาการความร่วมมือระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางในครั้งนี้ มีขอบเขตความร่วมมือหลัก ๆ 4 ประการ คือ
ประการแรก ทั้ง 9 หน่วยงาน มีเจตนารมณ์ร่วมมือกันในการบูรณาการดำเนินงานบริการด้านการเดินทางแก่นักท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงความสะดวกของนักท่องเที่ยว การลดขั้นตอนความยุ่งยากของนักท่องเที่ยว เพื่อให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเกิดความสะดวกตั้งแต่เข้ามาถึงประเทศไทย จนกระทั่งเดินทางกลับภูมิลำเนา ด้วยการจัดทำระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) โดยการจัดทำเว็บท่า (Web Portal) ซึ่งจะเป็นที่รวมขั้นตอนต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องดำเนินการเพื่อเข้าประเทศไทยไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร
ประการที่ 2 ทั้ง 9 หน่วยงาน มีความประสงค์ในการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานและกิจกรรมความร่วมมือ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มข้อมูลกลาง รวบรวมลิงก์เว็บไซต์ และข้อมูลสำคัญ ซึ่งมีการเชื่อมโยงของระบบต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ แอปพลิเคชัน "Thailand Pass" สำหรับกรอกข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Declaration Form) สำหรับเดินทางท่าอากาศยาน และแอปพลิเคชัน "DDC Pass" สำหรับกรอกข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Declaration Form) สำหรับพรมแดนและเรือ ของกรมควบคุมโรค เรื่องของการขอ e-Visa ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมการกงสุล เรื่องการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการประกันภัย COVID-19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก่อนเข้าประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการค้นหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในราชอาณาจักรไทยจากเว็บไซต์ Thailand Tourism Directory และ TAT News ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เรื่องตารางเที่ยวบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เรื่องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) ของกรมสรรพากร และแอปพลิเคชัน Tourist Police I Lert U ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว
ประการที่ 3 กรณีที่บันทึกข้อตกลงนี้มีการดำเนินการเกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยว ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามข้อตกลงฉบับนี้ ให้ทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินการตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ประการที่ 4 บรรดาข้อมูลที่ทั้ง 9 หน่วยงาน ได้รับจากการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดให้ถือว่าเป็นความลับร่วมกัน ซึ่งทั้ง 9 หน่วยงานจะต้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เท่านั้น โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นหรือต่อสาธารณชน แม้ว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้จะสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว หรือเป็นกรณีจำเป็นจะต้องเปิดเผยตามผลบังคับของกฎหมาย หรือจากผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูล
โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ทั้ง 9 หน่วยงานลงนามร่วมกัน ทั้งนี้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้ง 9 หน่วยงาน อาจตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อขยายระยะเวลาความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ออกไปได้ตามความเหมาะสม
ส่วนการยกเลิกความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ก่อนระยะเวลาจะสิ้นสุดลง ต้องกระทำโดยความเห็นชอบทั้ง 9 หน่วยงานและจะต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ กรณีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ไม่มีผลเป็นการยกเลิกโครงการหรือกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้
ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. มีความยินดีให้ความร่วมมือในการให้เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. หรือแพลตฟอร์มอื่นของสำนักงาน คปภ. เป็นอีกช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มกลาง COVID-19 Insurance Data Terminal for all ASEAN (www.asean-insur-data.org) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รองรับแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศที่กำลังเริ่มฟื้นตัว และส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูล และการเข้าถึงระบบประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับความเห็นชอบและการตอบรับเป็นอย่างดีในการขับเคลื่อนโครงการนี้จากที่ประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันได้พัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัย สถานการณ์ผู้ติดเชื้อแต่ละประเทศ มาตรการภาครัฐ และข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจเชื่อมกับเว็บท่านี้ เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชากรอาเซียนได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น
"เชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้ง 9 หน่วยงาน ที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่น และยกระดับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติอย่างครบวงจร" เลขาธิการ คปภ. กล่าว