นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยในเวทีปฐกถา ในงาน "FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมไทย"ว่า เป็นที่ทราบกันว่า ได้มีการประกาศให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ และตั้งเป้าที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วย BCG ให้มีมูลค่าเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ภายในอีกประมาณ 5-6 ปีข้างหน้า ให้มียอดมูลค่ารวม 4.4 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็น 24 เปอร์เซนต์ของประเทศไทย ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตรงกับนโยบายการขับเคลื่อนของสภาอุตสาหกรรมฯ ในวาระปี 65-67 ของคณะกรรมการชุดนี้
เรามองว่า BCG เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของประเทศไทย ที่สำคัญกว่านั้น จะเป็นความยั่งยืนที่สามารถแข็งขันได้ ขณะนี้ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่เรียกว่า VUCA เราเห็นความท้าทายมากมายที่เข้ามาตลอดเวลา หลายคนเรียกสถานการณ์นี้ว่า Perfect storm แต่สภาอุตสาหกรรมฯ ยังมองว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ขอเพียงต้องเร่งในการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เราเร่งหนีจากภาวะที่เรียกว่า Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก อุตสาหกรรม 45 กลุ่ม 11 คลัสเตอร์ของเรา ได้รับผลกระทบไม่น้อย แต่ที่เรายืนอยู่กันได้ทุกวันนี้ เพราะเราปรับตัวตลอดเวลา นอกจากอันดับ 1 คือ S-Curve อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เรียกว่า 12 อุตสาหกรรม 5+7 อันดับ 2 คือ BCG และส่วนอันดับ 3 คือเรื่องของ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรื่องนี้กับ BCG ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเดียวกัน
ในกลุ่ม BCG นี้ สภาอุตสาหกรรมฯ เรามีกิจกรรมมากมาย มีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยทำงานเป็นเชิงรุก สิ่งที่เป็นนโยบายของสภาอุตสาหกรรมฯ ก็คือ ONE FTI ประกอบด้วยหลายส่วน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัด คือ ONE TEAM สภาอุตสาหกรรมฯ ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุสาหกรรม 76 จังหวัด 5 ภาค 11 คลัสเตอร์ เราจะรวมกันเป็นหนึ่ง และเราจะเชื่อมต่อกับภาครัฐในทุกส่วน เพื่อทำงานด้วยกัน วันนี้เราจะต้องทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน ผมเชื่อว่า นี่คือ พลังที่แท้จริงของประเทศไทย สำหรับ BCG นอกจากภาคอุตสาหกรรม ที่เป็นเจ้าภาพหลักของเอกชนแล้วนั้น สำหรับภาครัฐ ผมมองว่า กระทรวงเกษตรจะเป็นเจ้าภาพใหญ่
ประเทศไทยขณะนี้ต้องเผชิญปัญหารอบด้าน แต่เรามีภาคเกษตรกรรม และมีเกษตรกร อยู่เป็นจำนวนมาก เรารู้ปัญหาว่าประเทศไทยขณะนี้เราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มมูลค่า เพราะฉะนั้น ตัว B ในวันนี้จะถูกพูดในมิติของการสร้างมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยารักษาโรค เครื่องสำอางค์ อาหารเสริม ไบโอพลาสติก น้ำมันชีวภาพ หรือเชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ หรือปุ๋ยชีวภาพ รวมทั้ง Plant Based ซึ่งเป็น Novel food เหล่านี้จะเป็นตัวสร้างมูลค่า
"ถ้าเรามีภาคเกษตร ที่เปรียบเสมือน เหมืองบิทคอย ที่ขุดไม่มีวันหมดสิ้น" มีวัตถุดิบทีสำคัญที่สุดที่จะสร้างมูลค่า และทำให้ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากนั้น BCG จะเกิด Impact ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้ ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ในนามของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เราพร้อมที่จะจับมือกัน เป็น ONE TEAM และเรามี ONE Goal ที่จะพัฒนาความกินดีอยู่ดี พัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศไทย ที่เกิดความยั่งยืนถาวรต่อไป เพื่อประเทศไทย ที่เข้มแข็งกว่าเดิม "Stronger Thailand"
โอกาสนี้ นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "พลิกโฉมเกษตรไทย (Disruptive Change) ด้วยแนวคิด BCG พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" โดยสรุปว่า แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้ถูกนำมาใช้เป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนำเอาความรู้และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร หรือที่เรียกว่า "ทำน้อย แต่ได้มาก" เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ผลผลิตสินค้าเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำ ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การพลิกโฉมเกษตรไทย (Disruptive Change) ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องวางเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาให้ชัดเจน โดยเน้นการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และ รายได้สูง ซึ่งประสิทธิภาพสูง คือการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับผลผลิตเกษตร มาตรฐานสูง ด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืน ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพผลผลิต โภชนาการ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม และ รายได้สูง ด้วยการผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นความเป็นพรีเมียม มีความหลากหลาย และกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิตเกษตร เพื่อเป้าหมายให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคง
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมจัดนิทรรศการในงาน FTI Expo 2022 : Northern Chapter ภายใต้แนวความคิด "นวัตกรรมเกษตรไทย สู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ Next Normal (Agri-Innovation to New Industry for Next Normal)" (บูธ A103) ซึ่งมีหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 14 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1. กรมพัฒนาที่ดิน นำเสนอการสร้างความยั่งยืนของครัวเรือนเกษตรกรไทย โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 2. กรมชลประทาน นำเสนอความเชื่อมโยงของสายน้ำ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อขับเคลื่อน BCG Model ภาคการเกษตร 3. สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นำเสนอการพัฒนาสมุนไพรไทยในเขตปฏิรูปที่ดิน 4.กรมวิชาการเกษตร นำเสนอ BCG model กับการพัฒนา กัญชา กัญชง อย่างยั่งยืน 5. กรมปศุสัตว์ จัดนิทรรศการ EAT Cricket To Save The Planet สาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด
6. กรมการข้าว นำเสนอการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ 7. กรมประมง นำเสนอการนำวัสดุเหลือใช้ภาคการเกษตรมาใช้ประโยชน์ 8. กรมหม่อนไหม นำเสนอไหมรังเหลืองเมืองเหนือเพื่ออุตสาหกรรมด้วยตลาดนำการผลิต 9. สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นำเสนอการยกระดับพืชสมุนไพรไทยด้วยมาตรฐาน พัฒนาสู่ความยั่งยืน 10. กรมส่งเสริมการเกษตร นำเสนอการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร 11. การยางแห่งประเทศไทย นำเสนอการปลูกสร้างสวนยางพาราแบบเกษตรผสมผสาน 12. กรมส่งเสริมสหกรณ์ นำเสนอการบริหารจัดการผลผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร 13. องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย นำเสนอการพัฒนาเกษตรกรโคนมสู่ Smart Farmer (DPO Smart Farmer) และ 14. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมสนับสนุนสื่อวีดีทัศน์ "การขับเคลื่อนภาคเกษตร ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG"
"การจะร่วมกันพลิกโฉมเกษตรไทย ด้วยแนวคิด BCG พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน บูรณาการร่วมกันในระดับพื้นที่ การใช้ตลาดนำการผลิต รู้จักนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มผลิตภาพและศักยภาพการผลิต ที่สำคัญต้องร่วมกันใช้วิกฤตมาสร้างโอกาส จากกระแส Disruption / Digital Transformation ให้เป็นความท้าทาย จุดประกายศักยภาพ พลิกโฉมภาคเกษตรไทย ผ่านแนวคิด BCG เพื่อนำพาประเทศก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม เกษตรมูลค่าสูง และยกระดับเกษตรกรสู่อาชีพเกษตรกรรมแห่งอนาคตที่สมบูรณ์แบบไปพร้อมกัน" เลขาธิการ สศก. กล่าว