(เพิ่มเติม) กกร.ปรับกรอบ GDP ปีนี้โต 2.75-3.5% จากเดิม 2.5-4% หลังขยับส่งออก-เงินเฟ้อสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 4, 2022 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) กกร.ปรับกรอบ GDP ปีนี้โต 2.75-3.5% จากเดิม 2.5-4% หลังขยับส่งออก-เงินเฟ้อสูงขึ้น

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับกรอบคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 65 มาอยู่ที่ 2.75-3.5% จากเดิมเมื่อเดือน มิ.ย.ที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.5-4.0% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์

ขณะที่ กกร. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ เป็น 5-7% จากเดิม 3-5.5% และมูลค่าส่งออกไทยปีนี้ เป็น 5-7% จากเดิม 3-5% เนื่องค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม แต่ยังคงมองว่าการส่งออกไทยยังมีความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

"ความท้าทายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ที่ประชุม กกร. ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.7-3.5% จากกรอบเดิมที่ 2.5-4.0% ขณะที่ปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออกเป็นขยายตัวในกรอบ 5-7% และปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5-7% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป และค่าเงินบาทที่มีการอ่อนค่าลงมากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้เดิม"นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร. ระบุ

นายผยง กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ท่ามกลางความเสี่ยงที่รุมเร้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนและความสามารถในการบริหารต้นทุนของภาคการผลิต ขณะที่ต้นทุนทางการเงินกำลังเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ดังนั้น เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ในช่วงครึ่งหลังของปี หากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และผลกระทบต่อราคาพลังงานยังไม่มีคลี่คลาย

นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างมากจากนโยบาย zero covid policy และอาจฟื้นตัวได้ช้า แม้รัฐบาลจีนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ทำให้ภาคการส่งออกของไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

อัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าการท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศจะฟื้นตัวได้ดีถึงระดับกว่า 80% ของภาวะปกติในช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีแรงส่งเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากช่วงครึ่งปีแรก แต่จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงในระดับ 6-8% ในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยทำให้กำลังซื้อของภาคครัวเรือนลดลง และต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย

ที่ประชุม กกร. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังสามารถเติบโตได้ แต่ต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและธุรกิจในวงกว้าง และยังรวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน นอกจากนั้น ประธาน กกร. กล่าวด้วยว่า จากสถานการณ์ที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เนื่องจากปัจจัยในด้านเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากผลกระทบเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนการผลิต การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น กกร. จึงเสนอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนใน 3 ด้าน ดังนี้

1. ขอให้เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่การใช้จ่ายของครัวเรือนอ่อนแอ จากภาวะเงินเฟ้อสูง

2. ขอให้พิจารณาปรับราคากลางจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความเหมาะสม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของผู้ประกอบการที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานหรือด้านงานบริการกับภาครัฐ เนื่องจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้มาก ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

3. ขอให้ภาครัฐอำนวยความสะดวกธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง เช่น การเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ ซึ่งคาดหมายว่าหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ