พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงผลการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่า ที่ประชุมฯ หารือเพื่อกำหนดแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์พลังงาน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลก การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ และการเงินการธนาคาร อีกทั้งการบรรเทาค่าครองชีพ ปัญหาด้านพลังงาน อาหาร ผลผลิตการเกษตรและปัจจัยการผลิต
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และ 2.คณะกรรมการเฉพาะกิจ บริหารติดตาม วิเคราะห์ผลกระทบในอนาคต
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้ได้มีการหารือกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ ทั้งปัญหาสงคราม สงครามการค้า ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยยาวนานแค่ไหน รวมทั้งจะส่งผลในช่วง 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปีข้างหน้าอย่างไรบ้าง เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดว่าในช่วง 3 เดือนจากนี้ (ก.ค.-ก.ย.) รัฐบาลจะพิจารณามาตรการที่เคยดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนว่ามาตรการใดสามารถดำเนินการได้ต่อไปบ้าง และพิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ เพราะหากมีการกู้เงินก็ต้องมีการคำนึงถึงหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้น
"โดยสรุป เราเตรียมมาตรการ 3 เดือน สิ่งที่เราเคยให้ไปแล้ว จะดูว่าเราจะให้เพิ่มอะไรอีกได้หรือไม่ จะดูแลตรงไหนได้บ้าง เรามีเงินอยู่เท่าไร หาเงินได้จากที่ไหน ถ้าเราใช้การกู้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ จะสะสมหนี้สาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีผลต่อการเงินระยะยาว ส่วนเรื่องจะไปบังคับอะไรต่างๆ ที่กฏหมายทำไม่ได้ เราทำไปก็เสี่ยงถูกฟ้องร้อง"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลไม่ให้มีการขาดแคลนพลังงาน แม้ปัจจุบันต้นทุนราคาพลังงานจะสูงขึ้นมาก และใช้เงินดูแลไปแล้วกว่าแสนล้านบาท แต่หากมีงบประมาณเพียงพอก็ยินดีจะช่วยเต็มที่ ส่วนเรื่องค่าการกลั่นได้มอบหมายให้ทางกฤษฏีกาชี้แจงว่าเรื่องใดสามารถดำเนินการได้บ้าง เพราะมีผลต่อด้านกฏหมายด้วย
และยืนยันว่าจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับ ต้องมีการสำรองพลังงานให้เพียงพอ รวมถึงความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งมั่นใจว่าไทยไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร รวมถึงต้องมีการจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม โดยเรื่องนี้ต้องมีการเจรหาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แหล่งพลังงานในอ่าวไทย เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี ยืนยัน จะดูแลให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ พร้อมกับขอร้องให้ทุกคนช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยใช้เท่าที่จำเป็น