นายกฯ ชู "ขาณุโมเดล" ตัวอย่างผลสำเร็จแก้ปัญหาข้าวยั่งยืน เพิ่มรายได้-ลดต้นทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2022 10:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.กำแพงเพชร โดยในช่วงบ่ายจะเดินทางไปที่หมู่ 2 ต.แสนตอ อ.ขาณุวรลักษบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมการทำงานแบบโมเดลเศรษฐกิจของ "ขาณุโมเดล" ที่สามารถนำงบประมาณมาขยายผลต่อยอด นำไปสู่ความยั่งยืน

จากแนวคิดการแก้ไขปัญหาข้าวของรัฐบาล ที่ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนสำหรับการผลิตข้าวทั้งระบบ ตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการส่งเสริมการผลิตข้าวสายพันธุ์ใหม่ การพัฒนาพันธุ์ ตามที่ตลาดต้องการ การส่งเสริมและให้องค์ความรู้ในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งกลุ่มชาวนาที่ อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็น "ชาวนานักรักษ์" ได้ขานรับแนวคิดดังกล่าว โดยปรับพฤติกรรมการผลิตข้าวและร่วมสร้างเป้าหมายใหม่ ๆ

โดยโครงการ "ขาณุโมเดล" เป็นตัวอย่างการแก้ไขปัญหาข้าว โดยใช้แนวทางการผลิตข้าวอย่างยั่งยืนของรัฐบาล ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมการข้าว สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรเกษตรกร สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก ที่เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน

ซึ่งกลุ่มปลูกข้าวขาณุ เป็นตัวอย่างที่กรมการข้าวสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวนุ่ม กข79 ปี 2563/64 แค่ 2 ฤดูกาล ก็รู้จักนิสัยข้าว กข79 เป็นอย่างดี ทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกเริ่มเห็นผลเชิงประจักษ์ เมื่อกลุ่มเข้าใจลักษณะของพันธุ์ข้าว ก็มาขยายผลต่อยอด ได้ใบรับรอง GAP ยกระดับการผลิตเป็น GAP+ เป็น "ข้าวรักษ์โลก" เป็นการผลิตใช้ชีวภาพชีวภัณฑ์ ไม่เผาฟาง ทำให้ข้าวสวย ข้าวเปลือกได้คุณภาพทางกายภาพดี โรงสีให้ราคาดีเป็นที่น่าพอใจ คุณภาพดีสม่ำเสมอจนต้องจองล่วงหน้า ความยั่งยืนจึงเกิดขึ้น

โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการสร้างความยั่งยืนให้พี่น้องเกษตรกร สามารถผลิตข้าวได้อย่างยั่งยืน โดยรัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนส่งเสริมให้ขาณุโมเดลและทุกกลุ่ม เป็นแหล่งผลิตข้าวคุณภาพดีและยั่งยืน ให้เติบโตอย่างถาวรไปด้วยกัน

"การผลิตข้าวอย่างยั่งยืน จะเป็นการแก้ไขปัญหาข้าวที่มีความสำคัญต่อภาคการผลิตข้าวของประเทศ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันได้แก้ปัญหาทั้งระบบ ปรับระบบการผลิตข้าวให้เข้าสู่วงจรปกติตั้งแต่ปี 2563 ชาวนาได้รับการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยี การผลิตที่คำนึงระบบนิเวศ การส่งเสริมข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นการให้คันเบ็ดแทนการให้ปลา เมื่อระบบการผลิตข้าวได้มาตรฐานคุณภาพ โรงสี/ผู้ส่งออก ก็สามารถกลับเข้าไปในตลาดที่เคยเลิกซื้อข้าวของไทยได้" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ