นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนมิ.ย. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 22-30 มิ.ย. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 36.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 35.2 ในเดือนพ.ค. 65
"ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนม.ค.65 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาคธุรกิจเริ่มมองเห็นทิศทางในด้านบวกมากขึ้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางของนักท่องเที่ยว" นายวชิร กล่าว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนมิ.ย. ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งผู้ประกอบการและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ต่างมีความหวังในเชิงบวกมากขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งดัชนีจากทุกภาค และทุก sector ปรับตัวดีขึ้น โดยพิจารณาจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์โควิดในประเทศที่คลี่คลายลง และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 3/65
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 34.2
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 37.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 36.4
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 40.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 38.9
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 36.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 35.3
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 34.5
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 34.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 33.0
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน มิ.ย. 65 มีดังนี้
- ปัจจัยบวก ได้แก่
1. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 ยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบ สำหรับคนไทยไม่ต้องลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass และไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเข้าประเทศ ส่วนชาวต่างชาติยังต้องลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass
2. ผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถกลับมาเปิดบริการได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า)
3. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% จากเดิม 3.2% ส่วนปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.2% จากเดิม 4.4%
4. การส่งออกของไทยเดือน พ.ค. 65 ขยายตัว 10.47% มูลค่าอยู่ที่ 25,508.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัว 24.15% มีมูลค่าอยู่ที่ 27,383.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,874.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
- ปัจจัยลบ ได้แก่
1. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.00 บาทต่อลิตร เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมถึงแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 (E10) ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.30 บาทต่อลิตร
2. ความกังวลของเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
3. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลง
4. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ ยังคงส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และยังคงมีสายใหม่พันธุ์เกิดขึ้นเรื่อยๆ
5. SET Index SET Index เดือน มิ.ย. 65 ปรับตัวลดลง 95.08 จุด จาก 1,663.41 ณ สิ้นเดือนพ.ค. 65 เป็น 1,568.33 ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 65
6. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 34.416 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพ.ค. 65 เป็น 34.972 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 65
ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา คือ
- มาตรการดูแลเรื่องต้นทุน ราคาปัจจัยการผลิต และต้นทุนการดำเนินงานต่างๆ
- มาตรการดูแลราคาพลังงาน เช่น น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า และอื่นๆ ให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไป จนทำให้ต้นทุนการประกอบกิจการและการดำเนินชีวิตของประชาชนสูงขึ้น
- มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ในช่วงที่ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น
- แนวทางการดูแลนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญทั่วประเทศไทย
- การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตภาคประชาชน และภาคธุรกิจอีกครั้ง
- กระตุ้นประชาชนให้เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดผลรุนแรงหากได้มีการสัมผัสเชื้อ