นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางบางประเทศยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยประเทศดังกล่าวล้วนมีสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี อุปสงค์มวลรวมและตลาดการจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างกรณีตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 372,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สูงกว่าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 250,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.6% ซึ่งถือว่าต่ำ ส่วนอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้น 5.1% ความวิตกกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยหากธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปอาจเป็นเรื่องวิตกกังวลเกินเหตุกับที่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค.นี้ ซึ่งไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวถึงขั้นถดถอยแต่อย่างใด และคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะอยู่ที่ระดับ 3.25-3.50% ในช่วงปลายปี
หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเลยในปีนี้ก็จะทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาก กระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกของเงินทุนระยะสั้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะเม็ดเงินเก็งกำไรในตลาดการเงิน เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกจากระดับปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้ออาจปรับเพิ่มได้อีก
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยไตรมาสสามและโครงสร้างหนี้ในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้ของกิจการเอสเอ็มอีอยู่ในระดับสูงมาก เศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมจึงไม่พร้อมสำหรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ควรรอให้เห็นสัญญาณของการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในให้ชัดเจนก่อนจึงตัดสินปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่จำเป็นต้องกังวลเงินบาทอ่อนค่ามากเกินไป เพราะเมื่อเงินบาทอ่อนถึงจุดหนึ่งแล้ว กลไกอัตราแลกเปลี่ยนจะปรับสมดุลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุลลดลงจากภาคการท่องเที่ยว ส่วนอัตราเงินเฟ้อน่าจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว โดยราคาพลังงานและน้ำมันในตลาดโลกน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสสี่ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นก็เท่ากับการ Tax on economic activities ฉะนั้นถึงที่สุดแล้วเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
กรณีของไทยนั้น เฉพาะหน้าระยะสั้นนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะกดทับการขยายตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงกว่าเงินเฟ้อ เนื่องจากเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนและราคาพลังงานสูง รวมทั้งต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสัดส่วนหนี้สินสูงเทียบจีดีพี การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงได้ผลในการคุมเงินเฟ้อไม่มากนัก แต่จะชะลอการกระเตื้องขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับดอกเบี้ยขาขึ้นในไตรมาสสาม ควรชะลอขึ้นดอกเบี้ยไปปลายปี คาดแรงกดดันราคาพลังงานลดลงช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การสิ้นสุดลงของยุคดอกเบี้ยต่ำมากเป็นพิเศษเข้าสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในบางประเทศไม่น่าจะนำมาสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง เพียงทำให้เศรษฐกิจชะลอลงบ้างเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ คือ การปรับเพิ่มค่าบริการและสินค้าจากแฟลตฟอร์มหรือออนไลน์ต่างๆ จะแพงขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากในยุคดอกเบี้ยต่ำพิเศษได้สิ้นสุดลงแล้ว ก่อนหน้านี้บรรดา Tech Start-Up ทั้งหลายจะได้เงินลงทุนจากกองทุนร่วมเสี่ยงจำนวนมากและมีการอุดหนุนราคาให้การให้บริการต่างๆ ถูกมากกว่าปรกติเพื่อขยายฐานลูกค้า ขยายฐานรายได้ และยอมขาดทุนจากการอุดหนุนราคา ขายและให้บริการต่ำกว่าราคาตลาด
จากนี้ไปสินค้าราคาถูกมากๆ ที่ขายทางออนไลน์จะมีให้เห็นน้อยลงจากช้อปปิ้งออนไลน์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Alibaba, Lazada หรือ Shopee เป็นต้น บริการราคาถูกมากๆ จากไรเดอร์ทั้งหลายใกล้ถึงจุดสิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็น Uber, Grab สินค้าขายออนไลน์ทั้งหลายรวมทั้งราคาค่าบริการทั้งหลายจะปรับเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ยุคเฟื่องฟูของกองทุนร่วมเสี่ยง (Venture Capital) และ บริษัท Tech Start-up รวมทั้งบริษัทธุรกิจแพลตฟอร์มต่างๆ กำลังก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
นอกจากนี้ ต้นทุนจ้างแรงงานอิสระของธุรกิจแพลตฟอร์มสูงขึ้น การจัดมาตรฐานการจ้างงาน ลูกจ้างอิสระแพลตฟอร์ม (Independent Contract worker) ให้ได้รับความเป็นธรรมในการจ้างงานรายชิ้นมากขึ้น ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นแต่เป็นธรรมมากขึ้น ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจแบบกิ๊ก (Gig Economy) ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มเป็นอิสระจากความรับผิดชอบต่อคนงาน โดยเฉพาะคนงาน "ไรเดอร์" ที่ถูกเรียกว่าเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ หรือพาร์ตเนอร์ (Partner) ไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน หรือไม่มีสวัสดิการในการทำงาน สิ่งนี้จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการต่างก็หาทางใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตสินค้า บริการหรือนวัตกรรมที่เป็นสินค้าใหม่ เพื่อสร้างประโยชน์เชิงธุรกิจให้กับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนวัตกรรมนั้นสามารถทำให้องค์กรมีกำไรจากการเป็นผู้ผูกขาด (Monopoly profit) ได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่พยายามจะลอกเลียนแบบเทคโนโลยีของผู้อื่น หรือดัดแปลงพัฒนาต่อยอดก็ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลาเช่นกัน เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งถึงจุดที่ความสามารถในการผูกขาดหมดไป ณ จุดนี้สิ่งต่างๆ จะวนกลับมาเป็นวัฏจักร เพื่อหนีการลอกเลียนแบบผู้ประกอบการเดิมหรือคนที่มองหานวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้เกิดรูปแบบการแข่งขันใหม่ๆ จากการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองออสเตรีย นาม Joseph Schumpeter และ นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน นาม Werner Sombart เรียกว่าเป็น การทำลายที่สร้างสรรค์ (creative destruction) เมื่อมีการคิดสิ่งใหม่ๆ ทำลายสิ่งที่มีอยู่เดิม และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โอกาสใหม่ รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจ ในยุคอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การไล่กวดทางธุรกิจ คิดค้นและต่อยอดนวัตกรรมใหม่จะเกิดขึ้นในอัตราเร่ง และมาถึงจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของ บริษัท Tech Start-Up และการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การลงทุนของกองทุนร่วมเสี่ยง Venture Capital แล้ว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากรายงาน Global Digital Report พบว่า คนไทย 69% และล่าสุดมากกว่า 70% อยู่บนโลกออนไลน์เป็นประจำและมีพฤติกรรมออนไลน์หลายอย่างที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น โดยคนไทยใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการอัพเดทข่าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลกและเป็นอันดับหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2561 คนไทยช้อปปิ้งออนไลน์และซื้อของออนไลน์ผ่านมือถืออันดับต้นๆของโลก เศรษฐกิจไทยควรได้รับประโยชน์และโอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจมากกว่านี้จากฐานตลาดที่ใหญ่ ถ้าไทยสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีของตัวเอง และเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างชาติเพื่อนำมาส่งเสริมแพลตฟอร์มของไทยเป็นนโยบายสาธารณะที่ควรมีการศึกษาอย่างจริงจัง ระบบเศรษฐกิจที่ทำงานอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เนตและเทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งจากการแพร่หลายของนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ด้วยเทคโนโลยี MR Mixed Reality (เป็นการผสาน VR และ AR เข้าด้วยกัน เกิดภาพที่มีมิติเสมือนจริง เราจะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกเสมือนได้บนพื้นหลังที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริง ผ่านอุปกรณ์อย่าง HoloLens ของ Microsoft หรือ Apple Glasses ซึ่งสามารถนำมาใช้ในกิจการศึกษาวิจัย กิจการท่องเที่ยว บริการทางแพทย์หรือกิจการบันเทิง นันทการต่างๆ) ด้วยเทคโนโลยี XR Extended Reality (เป็นการผสมความจริงเสมือน ความจริง และช่องทางการสื่อสารระหว่างคนกับเครื่องจักร รวม VR AR และ MR เข้าด้วยกัน)
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะยังคงเป็นเบี้ยล่างในฐานะเป็นผู้ซื้อ ผู้ใช้ มากกว่าการเป็นผู้พัฒนาต่อยอด การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวนำในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆการดำเนินกิจการต่างๆขององค์กรหรือปัจเจกบุคคล การสร้างการเติบโตทางธุรกิจ มีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการคือ 1.การใช้ทรัพยากรเมื่อต้องการ (Resource on Demand) ภายใต้เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกำลังการผลิตที่เหลือของทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่ 2.การใช้ศักยภาพของบุคลากรเมื่อต้องการ (Talent on Demand) ในรูปแบบของแรงงานอิสระ (Freelance Workforce) คำว่า Freelance หรือ Freelancer คือผู้มีอาชีพอิสระไม่ขึ้นตรงต่อหน่วยงานองค์กรใดๆ 3.การแสวงหาความรู้และข้อมูลที่จำเป็นเมื่อต้องการ (Intelligence on Demand) ลักษณะดังกล่าวจะทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจใหม่จำนวนมากและทำลายล้างธุรกิจและเศรษฐกิจแบบเดิมจำนวนไม่น้อยด้วยอัตราเร่งที่มากกว่าเดิม กว้างขวางกว่าเดิม โดยเฉพาะประเทศที่ไม่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเหล่านี้