สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มกราคม 2551 มีจำนวน 3,324,304 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.30 ของ GDP
หนี้สาธารณะดังกล่าว เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,095,909 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 941,316 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่สถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 97,679 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 168,430 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 20,970 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 37,439 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 44,302 ล้านบาท, 2,044 ล้านบาท และ 1,859 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาล ค้ำประกันและหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐลดลง 4,942 ล้านบาท และ 5,824 ล้านบาท
การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างจากเดือนก่อนเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศของรัฐบาลกู้โดยตรง 42,500 ล้านบาท เนื่องจากการออกพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรออมทรัพย์ และตั๋วเงินคลัง เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและบริหารดุลเงินสดของรัฐบาล โดยออกพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงินรวม 16,500 ล้านบาท ออกตั๋วเงินคลัง วงเงินรวม 70,000 ล้านบาท และชำระคืนตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนด วงเงินรวม 44,000 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลง เนื่องจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ชำระคืนพันธบัตรที่ครบกำหนด วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐลดลง เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้ชำระคืนเงินกู้ระยะยาว วงเงินรวม 5,824 ล้านบาท
หนี้สาธารณะ 3,324,304 ล้านบาท แยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 414,509 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.47 และหนี้ในประเทศ 2,909,795 ล้านบาท หรือร้อยละ 87.53 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,133,747 ล้านบาท หรือร้อยละ 94.27 และหนี้ระยะสั้น 190,557 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.73 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--