นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้เพิ่มกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่างๆ นั้น
กรมฯ ได้รับนโยบายและจัดให้มีการประชุมหารือกับภาคเอกชนสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา เพื่อทราบถึงสถานการณ์ของสินค้า และหารือแนวทางในการส่งเสริมการส่งออก เช่น สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมกุ้งไทย สมาคมทูน่าไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป รวม 24 สมาคม
ทั้งนี้ ผลการหารือทราบว่าสินค้าในกลุ่มอาหารส่วนใหญ่ ยังคงมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีในการส่งออก รวมทั้งจะมีตัวเลขในการส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม ผลไม้ ผัก ประมง โดยเฉพาะปลาทูน่า อาหารสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ อาหารสำเร็จรูป อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ข้าว และมันสำปะหลัง เป็นต้น
"ภาคเอกชนให้ข้อมูลว่า การส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารข้างต้นมีแนวโน้มดี เนื่องจากเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร หลายประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ปกติ และการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาคพลังงาน ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อ" นายภูสิต กล่าว
นายภูสิต กล่าวว่า จากผลการหารือดังกล่าว กรมฯ ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าดังกล่าว ได้แก่ การจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาการค้า (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 65 โดยกรมฯ ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าริยาด ซึ่งสภาหอการค้าฯ ได้นัดหมายทางฝ่ายไทยแล้ว 120 ราย และในวันที่ 29 ส.ค. 65 กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนนำคณะผู้บริหารระดับสูง เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียด้วย
สำหรับสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ในช่วง 5 เดือน ปี 65 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่ารวม 467,255.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.16% สินค้าเกษตรและอาหารที่ส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มูลค่า 71,870.68 ล้านบาท เพิ่ม 39.37% 2. ข้าว มูลค่า 47,802.76 ล้านบาท เพิ่ม 34.55% 3. อาหารทะเลสด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป (รวมทูน่ากระป๋องและแปรรูป แต่ไม่รวมกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป) มูลค่า 59,225.16 ล้านบาท เพิ่ม 19.92% 4. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มูลค่า 50,259.71 ล้านบาท เพิ่ม 15.54% และ 5. ผัก ผลไม้ สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 90,911.75 ล้านบาท เพิ่ม 10.16%
ส่วนตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน มูลค่า 95,289.96 ล้านบาท เพิ่ม 10.92% 2. สหรัฐฯ มูลค่า 60,937.81 ล้านบาท เพิ่ม 34.28% 3. ญี่ปุ่น มูลค่า 56,728.94 ล้านบาท เพิ่ม 10.01% 4. อินเดีย มูลค่า 21,926.56 ล้านบาท เพิ่ม 219.90% และ 5. มาเลเซีย มูลค่า 17,519.7 ล้านบาท เพิ่ม 36.86%