ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 36.51 อ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี ตลาดไร้ปัจจัยบวกหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 14, 2022 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 36.51 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าสุดใน รอบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือน ต.ค.58 จากเปิดตลาดเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 36.27 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเคลื่อนไหวในกรอบ 36.16 - 36.51 บาท/ดอลลาร์

เนื่องจากเงินบาทยังไม่มีปัจจัยบวก หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายืนยันจะไม่มีการประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) นัดพิเศษจนกว่าถึงรอบการประชุมตามปกติในเดือน ส.ค.65

ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคออกมาตรการทันทีหลังตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐออกมาสูงเกินคาด เช่น ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% หรือธนาคารกลางสิงคโปร์ ประกาศใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินด้วยการปรับค่ากลาง (Re-centre the Mid-Point) ของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า Nominal Effective Exchange Rate (NEER) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

"วันนี้บาทปิดตลาดอ่อนค่าสุดของวัน เนื่องจากไม่มีการ take action จากแบงก์ชาติเหมือนธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น ฟิลิปปินส์หรือสิงคโปร์ หลังแบงก์ชาติออกมาให้ข่าวว่าไม่มีการประชุม กนง.นัดพิเศษ บาทก็อ่อนค่ามาเรื่อยๆ" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 36.40 - 36.60 บาท/ดอลลาร์ โดยคืนนี้จะมีการ ประกาศจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ

"หากยังไม่มีปัจจัยบวกเข้ามา คิดว่าบาทน่าจะทำนิวไฮไปเรื่อยๆ" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 138.77 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 137.96 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0039 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.0019 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,536.82 จุด ลดลง 9.98 จุด, -0.65% มูลค่าการซื้อขาย 61,695.41 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,437.19 ล้านบาท(SET+MAI)
  • สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ที่สำรวจ
ในเดือน มิ.ย.65 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 64.57 ปรับตัวลดลง 23.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ใน
เกณฑ์ซบเซาเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน
  • นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้านโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชี้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเดือน มิ.ย.65
ปรับตัวสูงถึง 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ 8.8% จึงกังวลกันว่าในวันที่ 27 ก.ค.นี้ธนาคารกลางสหรัฐ
(เฟด) อาจจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นไปอีกซึ่งจะสะท้อนให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอีก ดังนั้น
ธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงควรทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ด้วย
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 3.25% ในการประชุมวันนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะ
ควบคุมเงินเฟ้อ
  • ธนาคารกลางแคนาดาประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% สู่ระดับ 2.5% ในการประชุมเมื่อวานนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะ
ควบคุมเงินเฟ้อ พร้อมเตือนว่าธนาคารกลางอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในวันข้างหน้า
  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศจับตาการดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกอย่างใกล้ชิด แต่
ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในจีน
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจใน 12 เขตของสหรัฐ (Beige Book) ระบุว่า เศรษฐกิจ
สหรัฐขยายตัวเพียงเล็กน้อยในช่วงกลางเดือน พ.ค.จนถึงกลางเดือน ก.ค.เนื่องจากการที่เฟดดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเพื่อควบคุมเงิน
เฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 20 ปีนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ
สหรัฐในปี 2565 ลงเหลือ 2.3% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.9% หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง ขณะ
เดียวกัน IMF เตือนว่า สหรัฐกำลังเผชิญกับความท้าทายในการหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก พร้อมเตือน
ว่าการจัดหาก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปที่หยุดชะงักอาจทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ