กนอ.โรดโชว์ญี่ปุ่นชู life-long Partnership ดึงลงทุน S-Curve/New S-Curve/BCG

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 18, 2022 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กนอ.โรดโชว์ญี่ปุ่นชู life-long Partnership ดึงลงทุน S-Curve/New S-Curve/BCG

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 14-17 ก.ค.ที่ผ่านมา นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเชิญชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ (BCG ) ซึ่งถือเป็นการโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

ในการจัดกิจกรรมประชุม Round Table กนอ.ได้นำเสนอภาพการลงทุนในประเทศไทย ความพร้อมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศไทย ทั้งรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น รวมถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S-Curve โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สำหรับการลงทุนหรือขยายการลงทุนในประเทศไทย หรือในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ

ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ช่วงที่ยังไม่สามารถเดินทางได้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตนมีโอกาสได้พบปะกับผู้แทนองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization: JETRO Bangkok) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) รวมถึงนักลงทุนชาวญี่ปุ่นกลุ่มต่างๆ ที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย และเชื่อว่าทั้งสองประเทศมีแนวทางการลงทุนไปในทิศทางเดียวกัน คือ life-long Partnership หรือพันธมิตรที่ยั่งยืน ซึ่งมีกลุ่มนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ลงทุนอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดถึง 37% โดยหลักๆ เป็นรถยนต์และชิ้นส่วน นอกนั้นเป็นเหล็กและโลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเคมี ดิจิตอล อาหาร และอื่นๆ

สิ่งแรกที่ กนอ.แจ้งให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับทราบข้อดีของการลงทุนกับ กนอ.คือ สามารถช่วยประสานงานขอเอกสารต่างๆ ได้ในที่เดียว ซึ่งที่ผ่านมานักลงทุนหลายชาติต่างชื่นชมว่า การลงทุนกับ กนอ.จะมีประสิทธิภาพที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ นอกจากเรื่องของความสะดวกรวดเร็วแล้ว กนอ.ยังร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี การขออนุมัติอนุญาตให้คนเข้ามาทำงานในประเทศ ขณะเดียวกันในปัจจุบันการลงทุนกับ กนอ.และขอรับการสนับสนุนจากบีโอไออาจจะได้รับการยกเว้นภาษีสูงถึง 10 ปี และจากนั้นก็อาจจะขอลดลงได้อีก 50% โดย บริษัท Daikin ได้ระบุว่า บริษัทมีความสนใจที่จะหาพื้นที่ในประเทศไทยเพื่อทำ R&D center รองรับตลาดเอเชียซึ่ง กนอ.ยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศไทย

ปัจจุบันไทย-ญี่ปุ่นมีเป้าหมายเดียวกันคือ เรื่องของการใช้พลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็สามารถใช้ลดภาษีเพิ่มเติมได้ โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีพื้นที่ประมาณ 625 ไร่ โดย กนอ.ตั้งเป้าให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ลดการใช้พลังงานอย่างแท้จริง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ กนอ.ให้ความสนใจ คือ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร EV และอุตสาหกรรมยา รวมถึงโลจิสติกส์ ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีก 1 ปีครึ่งข้างหน้า ซึ่งมีผู้จองพื้นที่บ้างแล้ว ดังนั้น หากนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าดูพื้นที่ สามารถแจ้งมายัง กนอ.ได้ทันที

นอกจากนี้ ยังนำเสนอให้นักลงทุนญี่ปุ่นได้ทราบถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ซี่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน(SEZ) ด้วย โดยทั้ง 2 นิคมฯ ดังกล่าวก่อสร้างเสร็จแล้ว พร้อมรับการลงทุน 100%

นอกจากกิจกรรมประชุม Round Table ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม New S-Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพรายใหญ่ของญี่ปุ่นจำนวน 30 ราย เพื่อชักชวนให้มาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีโอกาสเข้าพบ Mr.Takehiko Matsuo Director General, Trade Policy Bureau ณ Ministry of Economy, Trade and Industry หรือ METI เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและการสนับสนุนแรงงานที่มีทักษะ (skilled worker) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งไทยและญี่ปุ่น รวมถึงการหารือด้านการใช้พลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การใช้พลังงานจากไฮโดรเจน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กนอ.ที่ตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ