ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวว่าตัวแทนจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา "มาม่า" ได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ค้าส่งว่าจะปรับขึ้นราคาอีกซองละ 1 บาท จาก 6 บาทเป็น 7 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.65 ว่า ขอยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้อนุญาตให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาขายตามที่เป็นข่าว โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอย่างละเอียด
ทั้งนี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นสินค้าควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 การจะปรับขึ้นราคา ต้องได้รับการอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน
"ที่มีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะปรับขึ้นราคาขาย เป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชน และอาจกระทบต่อราคาขายปลีก เพราะอาจมีผู้ค้าบางรายฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขายไปแล้วตามที่มีข่าวออกมา ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นข่าวจริง ซึ่งจะสร้างผลกระทบให้กับประชาชนได้" รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุ
ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันนั้น ร.ต.จักรา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาจำหน่ายไว้ให้นานที่สุดก่อน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ได้ให้นโยบายว่าจะใช้ "วิน วิน โมเดล" โดยจะพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเกษตรกรจะยังขายผลผลิตได้ในราคาดี ผู้ผลิตจะต้องทำธุรกิจต่อไปได้ ขณะที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ยืนยันว่า ยังไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตรามาม่า ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวจากสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ว่าได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากตัวแทนส่งว่าจะปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกซองละ 1 บาท เพราะต้นทุนการผลิต เช่น แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งปรับสูงขึ้น
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งการปรับราคาอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และกรมการค้าภายใน ยังคงเข้มงวดต่อมาตรการเชิงนโยบายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ต้องการให้ดูแลผู้บริโภคและประชาชนอย่างถึงที่สุด
โดยที่ผ่านมา มีบริษัทผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายได้มีการยื่นขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลีกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาราคา โดยการคำนวณต้นทุนอย่างเป็นธรรมต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคให้เกิดความสมดุล และยังไม่มีการอนุญาตให้ผู้ผลิตรายใดปรับขึ้นราคา
ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะใช้ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางบริหารเพื่อดูแลให้ความเป็นธรรมและสมดุลสำหรับทุกฝ่ายต่อไป
"กรมฯ รับทราบ และเข้าใจถึงสถานการณ์ต้นทุนสินค้าที่มีการปรับสูงขึ้นจริง ทั้งในส่วนของราคาวัตถุดิบ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งโดยตรง สำหรับเรื่องการพิจารณาอนุญาตให้ปรับราคาสินค้าจะต้องพิจารณาถึงต้นทุนเป็นรายกรณีไป และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคมากนัก โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ก็ต้องสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สินค้าต้องไม่ขาดแคลน" อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว