นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า อัตราเงินเฟ้อของโลกน่าจะเริ่มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้หากไม่มีสถานการณ์พลิกผันเกิดคาดเกิดขึ้น โดยเฉพาะสงครามลุกลามบานปลาย ซึ่งการปรับลดลงของเงินเฟ้อจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายลง
สาเหตุที่คาดว่า เงินเฟ้อจะเริ่มปรับลดลง เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนไปจากช่วงต้นปี โดยเฉพาะราคาน้ำมันโลกเริ่มลดลงมาบ้างแล้ว แม้บางสัปดาห์อาจปรับตัวขึ้น-ลงบ้างแต่ก็ยังแกว่งตัวอยู่ในระดับประมาณ 100 ดอลลาร์/บาเรล ใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่เปิดฉากสงคราม ซึ่งไม่ใช่ระดับ 130-140 ดอลลาร์/บาเรล ซึ่ง ผลดีที่เริ่มเห็นตามมา คือราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลง โดยในประเทศไทย ราคาเบนซิน 95 จาก 52 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ 45 บาท/ลิตร ส่วนในสหรัฐ ราคาน้ำมันหน้าปั๊มที่เคยขึ้นไปที่มากกว่า 5 ดอลลาร์/แกลลอน ขณะนี้ลดลงต่ำกว่า 4.5 ดอลลาร์/แกลลอน เป็นครั้งแรกนับแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา
เรื่องนี้มีนัยต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของสหรัฐ เพราะองค์ประกอบของหมวด Energy มีสัดส่วน 8.7% ของทั้งหมด และหมวดย่อย Energy Commodities มีสัดส่วน 5.2% เป็นหัวใจหลักที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งในช่วงที่ผ่านมา อย่างเดือน มิ.ย.65 อัตราเงินเฟ้อสหรัฐ +9.1% มาจากการที่หมวด Energy +42% และ หมวดย่อย Energy Commodities +61%
ดังนั้น หากราคาน้ำมันหน้าปั๊มในสหรัฐยังอยู่ในระดับนี้ หรือลดลงอีกเล็กน้อย ก็จะทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อรวมที่มาจากหมวดย่อย Energy Commodities นี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี โดยหากอยู่ที่ 4.5 ดอลลาร์/แกลลอน หมวดย่อยนี้จะอยู่ที่ +30% ในช่วงต้นไตรมาส 4/65 หรือหากอยู่ที่ 4 ดอลลาร์/แกลลอน หมวดย่อยนี้จะอยู่ที่ +20% และหากอยู่ที่ 3.5 ดอลลาร์/แกลลอน หมวดย่อยนี้จะอยู่ที่ +3% ช่วยให้เงินเฟ้อสหรัฐเริ่มปรับตัวลดลงได้
นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะขึนสู่จุดสูงสุด (Peak) แล้ว เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มาช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเพิ่มเติ่มด้วย
(1) ราคาสินค้าโลหะโลก ที่ได้ปรับลดลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งโลหะมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการผลิตอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ รวมไปถึงภาคก่อสร้าง
(2) ราคาธัญพืชและอาหารโลกที่เริ่มปรับตัวลดลงบ้างในบางหมวดสินค้า
(3) ดอกเบี้ยที่เริ่มเพิ่มขึ้น จากการเร่งปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ช่วยส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางด้านเริ่มชะลอลง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มร้อนแรงลดลงมาก หลังดอกเบี้ย Mortgage ปรับตัวขึ้นสูง
(4) ที่สำคัญสุด คือ ความกังวลใจของทุกคนว่า "สงครามของธนาคารกลางกับเงินเฟ้อ" จะนำไปสู่ Recession ในอนาคต และอาจจะลุกลามเป็น Global Recessions ทำให้ทุกคนเริ่มลดการใช้จ่าย ชะลอการจ้างงาน บางแห่งประกาศลดคนงานลง
ทั้งหมดนี้ หมายความว่า ปัจจัยสำคัญๆ ที่เป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย และจะนำไปสู่การปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี
นายกอบศักดิ์ ยังระบุถึงข้อสงสัยที่ว่าหลังจากเงินเฟ้อ Peak แล้วทุกอย่างจะจบหรือไม่ว่า การเริ่ม Peak จะเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น หลังจากนั้น ก้าวต่อไปที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือ ก้าวที่สอง - เงินเฟ้อลดลงเร็วแค่ไหน หรือค่อยๆ ลดลงจาก Peak และ ก้าวสาม - เงินเฟ้อจะกลับมาที่ 3-4% เมื่อใด ก้าวสี่ - เงินเฟ้อกลับมาที่เป้าหมาย 2% หรือไม่
ทั้งนี้ พัฒนาการของทั้งสี่ก้าวนี้จะมีนัยต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง เพราะสิ่งที่เป็นเป้าหมายของธนาคารกลาง ไม่ใช่เงินเฟ้อ Peak ไม่ใช่เงินเฟ้อลด ไม่ใช่เงินเฟ้อที่ 3-4% แต่เป็นการกดเงินเฟ้อกลับมาที่ 2% อีกครั้ง
"ช่วงที่ยากสุด น่าจะเป็นการลดลงจาก 3-4% กลับมาที่ 2% เพราะเงินเฟ้อ 3-4% สุดท้าย น่าจะมาจากหมวดอื่นๆ ใน Core inflation หากเงินเฟ้อดื้อแพ่ง ไม่ยอมลง ธนาคารกลางก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยไป จนกระทั่งเงินเฟ้อยอมสยบ กลับมาที่ 2% หมายความว่า แม้เงินเฟ้อจะ Peak แต่เรายังจะเห็นธนาคารกลาง "จ่ายยาแรง" ไปอีกระยะ"นายกอบศักดิ์ กล่าว
ที่สำคัญ ธนาคารกลางอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปไกลกว่าที่ทุกคนคาด จากที่เคยพูดกันว่าเฟดจะขึ้นไปที่ 3.8% แล้วจบ อาจจะไม่พอสำหรับความท้าทายรอบนี้ แต่ทั้งหมดนี้แม้หนทางจะยังอีกยาวไกล อย่างน้อยที่สุดเงินเฟ้อที่ Peak จะเป็นข่าวดีแรกที่นำไปสู่การคลี่คลายวิกฤต Perfect Storm