พาณิชย์ จ่ออนุมัติผลิตภัณฑ์นมขึ้นราคา หลังมิลค์บอร์ดเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 20, 2022 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พาณิชย์ จ่ออนุมัติผลิตภัณฑ์นมขึ้นราคา หลังมิลค์บอร์ดเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบ

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยจำกัด เปิดเผยว่า เกษตรกรโคนมทั่วประเทศ ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดพิจารณาปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมตามต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงที่มีต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้นกว่า 30% ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ทั้งต้นทุนอาหารวัวที่มีส่วนผสมจากปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง, ค่ายา, ค่าขนส่ง, ค่าไฟฟ้า ฯลฯ หากกระทรวงพาณิชย์ไม่ให้ขึ้นราคา ก็เกรงว่าผู้ผลิตนม อาจไม่ซื้อน้ำนมจากเกษตรกร และใช้นมผงที่ราคาถูกกว่าแทน ซึ่งจะยิ่งทำให้เกษตรกรเดือดร้อนหนักขึ้น

"การปรับราคาซื้อน้ำนมดิบครั้งนี้ ช่วยบรรเทาภาระต้นทุนที่ปรับขึ้นไปกว่า 40% แม้จริงๆ แล้วเกษตรกรขอขึ้นราคากก.ละ 3 บาท แต่มิลค์บอร์ดให้ขึ้น 2.25 บาท ถือว่ายังดี เพราะเกษตรกรยังมีกำไรกก.ละ 2 บาท ขณะเดียวกัน ได้รับการประสานจากกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งเสนอให้ครม.วันที่ 2 ส.ค.นี้ เห็นชอบมติมิลค์บอร์ด" นายนัยฤทธิ์ กล่าว

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังรับหนังสือจากชุมนุมสหกรณ์ โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อเร่งรัดให้พิจารณาปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม ภายหลังคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) อนุมัติขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบเกษตรกรกิโลกรัม (กก.) ละ 2.25 บาท จากกก.ละ 17.50 บาท เป็นกก.ละ 19.75 บาท และราคาหน้าโรงงานขึ้นเป็น กก.ละ 20.50 บาท จาก กก. 19.00 บาท ว่า ได้แจ้งเกษตรกรว่าต้องรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำมติของมิลค์บอร์ด เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อน

จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ จึงจะพิจารณาการปรับราคาผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับมติมิลค์บอร์ด โดยยึดหลักให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ โดยเกษตรกรยังขายน้ำนมดิบได้ในราคาดี ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมยังทำธุรกิจต่อไปได้ ไม่หยุดผลิตจนเกิดปัญหาขาดแคลน และผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

"ตอนนี้ ยังตอบไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์นม ที่ผลิตจากน้ำนมดิบของเกษตรกรในประเทศ จะปรับขึ้นราคาเท่าไร และมีผลิตภัณฑ์ใดบ้าง เพราะผู้ผลิตแต่ละรายมีต้นทุนต่างกัน ตามแต่ละผลิตภัณฑ์, บรรจุภัณฑ์, การบริหารจัดการ รวมถึงส่วนเหลื่อมกำไร ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ แต่ถ้าผู้ผลิตรายใดยังพอมีกำไรอยู่ ก็อยากให้ช่วยตรึงราคาขายไว้ก่อน เพื่อช่วยผู้บริโภค แม้ต้องซื้อนมดิบจากเกษตรกรในราคาสูงขึ้นตามมติมิลค์บอร์ด" อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุ

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์นม เช่น นมสดพาสเจอร์ไรซ์, นมสเตอริไรซ์, นมยูเอชที (ไม่รวมนมเปรี้ยว) และนมผงสำหรับเลี้ยงทารก เป็นสินค้าควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 การจะปรับขึ้นราคาขาย ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมหลายราย ได้ทำเรื่องขอปรับขึ้นราคาเข้ามาที่กรมแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

ส่วนผลิตภัณฑ์นมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศ และขณะนี้ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่า 36 บาท/ดอลลารื ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น จนผู้ผลิตอาจต้องปรับขึ้นราคาขายนั้น นายวัฒนศักย์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการนมผงบางราย ทำเรื่องขอปรับราคาเข้ามาที่กรมฯ เช่นกัน แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา

สำหรับกรณีที่ผู้ผลิตนม "โฟร์โมสต์" เลิกผลิตและเลิกทำตลาดนมพาสเจอไรซ์ในไทยนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายการตรึงราคา แต่อาจเป็นผลจากการปรับรูปแบบธุรกิจ ที่ผลิตภัณฑ์นมชนิดใด ไม่สามารถทำตลาดได้ก็ต้องหยุดผลิต ซึ่งอาจเป็นเพียงชั่วคราวก็ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ