นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น "เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม" ครบทั้ง 5 มิติ คือ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 5 การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม พัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริม สนับสนุน ผลักดัน ยกระดับเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมตามเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมอบหมายให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพดำเนินงาน
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรอ. กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กนอ. ส.อ.ท. และจังหวัดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 39 จังหวัด เพื่อการแสดงเจตนารมณ์ที่เห็นพ้องต้องกัน ในการร่วมบูรณาการความร่วมมือพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของหน่วยงานภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Ecosystem) เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอย่างมั่งคั่งและยั่งยืน
โดยมีนายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายธัญญา เนติธรรมกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยาน และลงนามบันทึกความเข้าใจโดย นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการ (ประจำสำนักผู้ว่าการ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. และผู้ว่าราชการจังหวัด 39 จังหวัดเป้าหมาย แบ่งเป็น จังหวัดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ระยะที่ 1) จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา
จังหวัดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (ระยะที่ 2) จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก และตราด
จังหวัดเป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (ระยะที่ 3) จำนวน 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุดรธานี อุบลราชธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ และภูเก็ต
"ทุกหน่วยงาน เมื่อได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันแล้ว จะร่วมบูรณาการความร่วมมือพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) สำหรับ กรอ.จะเร่งส่งเสริม สนับสนุน และยกระดับโรงงานอุตสาหกรรม ให้ได้รับการรับรองโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ครบ 100% และเข้าสู่มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ (CSR-DIW) ไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนโรงงานในพื้นที่เป้าหมาย
รวมทั้งร่วมส่งเสริม พัฒนา ยกระดับ และขับเคลื่อนพื้นที่เป้าหมายให้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยผ่านกลไกโครงสร้างการบริหารการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั้ง 39 จังหวัด เพื่อเป้าหมายสูงสุดสู่เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม