นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าใช้เวลาส่งผ่านไปถึงดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในอีกประมาณ 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้กู้เงินอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้พิจารณาผลกระทบที่จะมีต่อลูกค้า อย่าให้เกิดผลกระทบมากจนเกินไปจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นนั้น จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าให้เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศ แม้ว่าปัจจุบันภาวะเงินเฟ้อของไทยจะมาจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าและราคาพลังงาน ไม่ใช่จากความต้องการบริโภคที่มากเกินไป ซึ่งจากวิกฤติโควิดและวิกฤติราคาพลังงาน เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชนในเรื่องกำลังซื้อ
"การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นั้น ก็เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างกันจนมากเกินไป เพราะจะกระทบกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งขณะนี้แบงก์ชาติก็ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด" นายอาคม กล่าว
พร้อมยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีส่วนกระทบต่อหนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะต้นทุนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ปรับเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปัจจุบัน หนี้ของรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นแบบดอกเบี้ยคงที่ ขณะที่การระดมทุนในระยะต่อไปก็อาจมีผลกระทบที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นได้