นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. 65 อยู่ที่ระดับ 98.05 หดตัวเล็กน้อย 0.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 (ม.ค.-มิ.ย.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.48%
สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ 62.41% เพิ่มขึ้นจาก 62.30% ในเดือน พ.ค. 65 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.81%
ทั้งนี้ คาดว่าดัชนี MPI ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปทั้งนี้ โดย สศอ. ได้ประมาณการ MPI ปี 65 ว่า จะขยายตัว 1.5-2.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.0-3.0% จากการบริโภคในประเทศส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ ประกอบกับประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี อาทิ ยานยนต์ เครื่องประดับ อัญมณี รองเท้า กระเป๋า และเบียร์
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติความมั่นคงทางอาหารของโลก คาดว่าในปีนี้การส่งออกอาหารแปรรูปจะสร้างมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท และจะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตในเดือนมิ.ย. 65 คือ ปัญหา Supply shortage ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เพื่อใช้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการล็อกดาวน์ของประเทศจีน ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อยังคงส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมผ่านการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. 65 ขยายตัว 12.9% (เดือนพ.ค. 65 ขยายตัว 11.8%)
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ดัชนีผลผลิตส่งผลบวกในเดือนมิ.ย. 65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
- น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.53% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
- เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.26% จากการขยายตัวของตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน ประกอบกับภูมิอากาศแปรปรวนและมีอุณหภูมิสูงขึ้นในหลายประเทศส่งผลให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น
- ยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.25% จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิกอัพ เป็นหลัก เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รวมถึงเร่งผลิตเพื่อส่งมอบตามคำสั่งซื้อ
- เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.03% โดยได้เร่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตัวแทนจำหน่ายและร้านค้า สำหรับเก็บเป็นสต๊อกก่อนที่ผู้ผลิตจะปรับราคาจำหน่ายสินค้า
- ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.95% โดยได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณฝนมากเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก รวมถึงราคาพืชผลเกษตรที่สำคัญอยู่ในระดับสูง
สำหรับประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตเดือน ก.ค. 65 คือ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลาย ส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ตามลำดับสถานการณ์โควิด-19 ของไทยมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น รวมถึงนโยบายเปิดประเทศ จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน
ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทนั้น การอ่อนค่าแม้จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การส่งออกสินค้าไทยเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่อีกด้านส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องใช้เงินบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีตลาดหลักในประเทศและมีการนำเข้าวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูง
ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบจากวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกรวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่างๆ เป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตก็ปรับตัวสูงขึ้นตาม กระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs
นอกจากนี้ ต้องติดตามวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหลายประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อาทิ ศรีลังกา เมียนมา ลาว ซึ่งทั้งหมดนี้จะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ และจะเป็นตัวฉุดรั้งแรงขับเคลื่อนที่มาจากภาคการส่งออกของไทย
นางศิริเพ็ญ กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย ในเดือนส.ค.-ก.ย. 65 คาดการณ์ว่าส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดยปัจจัยภายในประเทศในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า คือ อุปสงค์ภายในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่มีความกังวลจากราคาพลังงาน และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมและปรับลดระดับการเตือนภัยโควิด-19 และความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ยกเว้นความเชื่อมั่นฯ ด้านต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ คือ เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัว เนื่องจากหลายประเทศเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้คำสั่งซื้อสินค้าชะลอตัว เช่น ในสหรัฐ และสหภาพยุโรป ขณะที่สหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณถดถอยหลังเผชิญภาวะเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ย และ เศรษฐกิจจีน ส่งสัญญาณหดตัว จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์บางเมือง และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ มีประเด็นที่ควรเฝ้าระวัง คือ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession) ที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกของไทย ขณะที่ปัญหา Supply Shortage ยังไม่คลี่คลาย
"ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว และปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบ" นางศิริเพ็ญ กล่าว