นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐว่า หลังอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 2/65 อยู่ที่ -0.9% ต่ำเกินความคาดหมายของตลาด ซึ่งเคยอยู่ที่ 2-3% เมื่อกลางเดือน พ.ค.65 และล่าสุดลดมาอยู่ที่ 0.4-0.5% ก่อนประกาศตัวเลขดังกล่าว
การที่ฝ่ายหนึ่งระบุว่าเป็น Technical Recession แล้ว เนื่องจากติดลบต่อกัน 2 ไตรมาส แต่อีกฝ่ายหนึ่งนำโดยคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีไบเดน และประธานเฟด บอกว่ายังไม่ถดถอย เพราะคำจำกัดความจริงๆ ของเศรษฐกิจถดถอยก็คือ ต้องแย่ไปหมดเกือบทุกอย่างอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ตลาดแรงงานสหรัฐยังทำงานได้ดี มีการสร้างงานใหม่ ซึ่งถ้าตลาดแรงงานยังแข็งแกร่งขนาดนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่น่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ส่วนตลาดหุ้นมองว่าถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็คงไม่ขึ้นดอกเบี้ย ตีความว่า "ข่าวร้ายของเศรษฐกิจ คือ ข่าวดีของเรา" โดยเมื่อวานนี้ Dow Jones +332 จุด หรือ 1%, Nasdaq +130 จุด หรือ 1%, Bitcoin +1000 จุด หรือ 4.6%
นายกอบศักดิ์ ระบุว่า ในประเด็นนี้ไม่มีประโยชน์ที่จะไปเถียงเรื่องคำจำกัดความ จุดสำคัญอยู่ที่
(1) เศรษฐกิจสหรัฐแผ่วลงมาก จากที่เคยขยายตัวได้ 5.7% เมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายขยายตัวได้ 6.9% แข็งแกร่งสุดๆ ตอนนี้ติดลบมา 2 ไตรมาสแล้ว เรียกได้ว่า เป็นหนังคนละม้วน กับเมื่อปีที่แล้ว เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็น ระฆังเตือนภัย เพราะเศรษฐกิจที่ดี ไม่มีปัญหา จะไม่ทำตัวแบบนี้ เสียเวลาที่จะไปเลี่ยงบาลี ไปมา บอกว่ายังไม่เข้าคำจำกัดความ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ตอนนี้ความเชื่อมั่นหาย ความกังวลใจเต็มไปหมด
(2) เศรษฐกิจสหรัฐจะอ่อนแออย่างนี้ต่อไป ในไตรมาสข้างหน้า เพราะคนไม่ใช้จ่าย ธุรกิจไม่ลงทุน หากเข้าไปดูในของข้อมูล GDP ที่ออกมา -0.9% จะพบว่า การบริโภคสินค้าต่างๆ -4.4% (ส่งผลให้ GDP -1.08%) , หมวดสินค้าคงทน -2.6% จากความกังวลใจว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี Recession อยู่ข้างหน้า คนจึงชะลอการใช้จ่ายในหมวดใหญ่ๆ เช่น รถ เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า ออกไป, หมวดสินค้าไม่คงทน -5.5% จากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้าน, การลงทุนภาคเอกชน -13.5% (ส่งผลให้ GDP -2.73%) , หมวดก่อสร้างในโรงงานอาคารต่างๆ -11.7% จากการชะลอการลงทุนของเอกชนเพื่อรับกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอลง, หมวดอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ -2.7% ที่เริ่มสั่งซื้อลดลง เพราะช่วงต่อไปไม่ต้องขยายกำลังผลิตและกิจการ, หมวดการสร้างบ้าน -14.0% สอดรับกับการปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐ ที่กำลังเข้าสู่ช่วงขาลงล หมวดสินค้าคงคลัง ที่เป็นผลมาจากการลดลงของยอดการขายสินค้าต่างๆ รวมถึงยานยนต์ ทั้งหมดนี้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐติดลบในไตรมาสสอง ทั้งๆ ที่ภาคส่งออกสหรัฐขยายตัวดีเป็นพิเศษ +18.0% (ส่งผลให้ GDP +1.92%) หากลองคิดดู ที่น่ากังวลใจจริงๆ คือ ตัวเลขหมวดเหล่านี้จะยังอ่อนแอต่อไป เพราะคนจะยังไม่ใช้จ่าย ธุรกิจจะยังไม่ลงทุนไปอีกระยะในช่วงขาลง ซึ่งเมื่อ Global Recessions ส่งผลต่อภาคส่งออกสหรัฐ ความอ่อนแอของสหรัฐก็จะยิ่งเด่นชัดขึ้น
(3) สหรัฐคงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด ไม่วันนี้ก็วันหน้า เป็นเพียงแค่เวลาเท่านั้น ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเฟดกำลังขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้สงครามกับเงินเฟ้อ โดยดอกเบี้ยยังจะขึ้นไปอีกมาก เพื่อสยบเงินเฟ้อที่สูงลิ่วที่ 9.1% เมื่อดอกเบี้ยขึ้นสูง การซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อของใช้ การลงทุนเอกชนต่างๆ ก็จะลดลงเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนตัวลงมากกว่านี้ คนตกงาน บริษัทปิดกิจการ เป็นเรื่องที่เฟดบอกว่าจำเป็นเพื่อจัดการเงินเฟ้อ
"สุดท้ายเศรษฐกิจก็จะเข้าสู่ภาวะถดถอย แบบที่ไม่ต้องมาถกเถียงกันว่า ตรงกับคำจำกัดความแล้วหรือยัง พูดได้ว่า ป่วยการที่จะมาเถียงกันแบบเด็กๆ เรื่องคำจำกัดความ มารับความจริงกันว่าขาลงกำลังมา เร่งเตรียมการรองรับในเวลาที่เหลืออยู่ น่าจะเป็นประโยชน์กว่า เพราะถ้าเราใช้เวลาที่เหลือ เตรียมการให้ดี เราก็จะผ่านไปได้ครับ" นายกอบศักดิ์ ระบุ